วิธีการปลูกข้าวในอ่างซีเมนต์(บ่อส้วม)

นายธนาวัฒน์  โชคกำทอง  หมอดินอาสาบ้านหนองกระโดน  ตำบลบึงอ้อ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา   มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 24 ไร่   ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกข้าวอินทรีย์  มันสำปะหลัง ยางพารา  ปลูกไม้ผล ผักสวนครัว เลี้ยงปลา  จนประสบความสำเร็จโดยเน้นแบบอินทรีย์อยู่ได้แบบพอเพียง  และล่าสุดคิดวิธีการปลูกข้าวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์  
การเตรียมเมล็ดพันธุ์


โดยนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะต้นกล้าในถาด แช่เมล็ดข้าวไว้ 2 คืน แล้วทำการดูดน้ำออก ให้สังเกตต้นข้าวจะแตกหน่อออกราก พอเพาะได้ 7 วัน ต้นกล้าข้าวจะสูง 2 นิ้ว ให้ใส่น้ำลงไปให้เห็นเฉพาะปลายข้าวที่โผล่ขึ้นมา พร้อมที่จะปลูก
การปลูกข้าวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์
1.การปลูกเริ่มต้น ด้วยการเตรียมท่อปูนขนาด 50x50 เซนติเมตร (บ่อส้วม)
2.ใส่ดินลงไปในบ่อให้มีความสูงขนาด 40 เซนติเมตร
3.นำดิน 1 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัม เทลงไปบนหน้าดิน แล้วใส่น้ำให้เต็มบ่อแช่ดินไว้เพื่อกำจัดวัชพืช 15 วัน
4.เมื่อครบกำหนด 15 วัน ให้ทำการใส่ปุ๋ยคอก แล้วนำข้าวมาปักต้นกล้า โดยปักบ่อละประมาณ 7 กอ ถ้ามากกว่านี้จะทำให้แน่นไป
5.หลังจากปักดำครบ 15 วัน ให้ใส่น้ำเต็มบ่อ เพื่อให้มีความชุ่มชื้น60% และใส่ปุ๋ยคอกลงไป 1 กก./บ่อ ใส่ 15 วันต่อครั้ง
6.เมื่อต้นข้าวสูง 50-60 เซนติเมตร ข้าวจะสมบูรณ์ อยู่ในช่วงข้าวตั้งท้อง หากมีใบเหลืองให้ใส่ปุ๋ยคอก 3 ขีดต่อ 1 บ่อ ตามด้วยการฉีดน้ำหมัก พด.2 และ พด.7 เพื่อป้องกันแมลง โดยเบื้องต้นการป้องกันแมลงให้นำมะกรูดมาผ่าเป็นซีกแล้วนำไปลอยน้ำในบ่อไว้ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของหนอน แมลง
7.ในการเก็บผลผลิตข้าว ให้เก็บรวงข้าวโดยการเด็ดชุดแรกตรงป้องแรกของรวงข้าว ต่อ 1 ต้นสามารถเก็บได้ 3รอบ โดยให้เก็บผลผลิตเมื่อข้าวเริ่มมีการตั้งท้องในปล้องที่สองของต้นข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวรุ่นที่สามแล้ว ให้ทำการกดต้นข้าวฝังลงไปในดินในบ่อ เหมือนการไถกลบตอซังข้าวและปล่อยน้ำเข้าบ่อให้ท่วมพอดีเป็นการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเตรียมบ่อลงปลูกรอบต่อไป
ผลผลิตใน 1 บ่อต่อรอบที่เก็บจะได้ปริมาณข้าวเปลือกบ่อละ 1.8 กิโลกรัม
สูตรน้ำหมักบำรุงนาข้าว
วัตถุดิบ กล้วยสุก 5 กิโลกรัม ,มะละกอ 5 กิโลกรัม,ฟักทอง 5 กิโลกรัม สับผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับกากน้ำตาล 10 ลิตร หัวเชื้อ 5 ลิตร พด.2 1 ซอง ละลายน้ำ 150 ลิตร หมักนาน 3 เดือน อัตราส่วนในการใช้ น้ำหมัก 1 ขวดลิโพต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต
สูตรน้ำหมักกำจัดป้องกันไล่แมลง
1.พริกสด 1 กิโลกรัม
2.กระชาย 1 กิโลกรัม
3.มะกรูดผ่าซีก 50 ผล
4.กากน้ำตาล 5 ลิตร
5.น้ำหมักหัวเชื้อ 5 ลิตร
6.น้ำส้มควันไม้ 5 ลิตร
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าคนให้เข้ากัน ผสมกากน้ำตาลที่ละลายกับน้ำ 20 ลิตรเอาไว้ ตามด้วยการนำ พด.7 มาละลายน้ำ 15นาที นำมาหมักรวมทั้งหมดในถัง หมักนานอย่างน้อย 20 วัน สามารถนำไปใช้ได้ น้ำหมัก 1 ขวดลิโพต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยกำจัดป้องกันไล่แมลงทุกชนิด

กรีดยางใช้ระบบกรีด 2 รอย ให้ผลผลิตสูง

การพัฒนาวิจัยระบบกรีดยางใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่สถาบันวิจัยยางต้องดำเนินการ  เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง  กรีดได้นานที่สุด 20-25 ปี  ทำความเสียหายกับต้นยางน้อยที่สุด  และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่กรีดที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น  และเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง  นอกเหนือจากระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวัน  หรือระบบกรีดสองวันเว้นวัน

จากการที่ราคายางพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเร่งกรีดยาง ขณะนี้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ใช้ระบบกรีดถี่หรือกรีดหักโหม โดยเฉพาะกับสวนยางที่เริ่มเปิดกรีดใหม่จะกรีด 4 วันเว้น 1 วัน และกรีด 3 วันเว้น 1 วัน โดยกรีด 1 ใน 3 ของลำต้น ทำให้ผลผลิตที่ได้ ต่อวันลดลง รายได้ต่อวันก็น้อยลงตาม และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นยางเพราะจะทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง อายุการกรีดสั้นลง นอกจากนี้ ยังมีผลต่อคุณภาพไม้ยาง ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ส่งผลเสียหายต่อรายได้เกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศที่อาจมีขึ้นในอนาคตข้างหน้า
กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองการใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด กับยางพันธุ์ RRIM 600 เพื่อหาระบบกรีดใหม่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้สูงขึ้น ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยการกรีดสลับหน้า ต่างระดับ เป็นวิธีการที่เปิดกรีดหน้ายางทั้ง 2 หน้ากรีด ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น วันเว้นวัน โดยหน้ากรีดแรกเปิดกรีดต่ำ ที่ระดับ 80 เซนติเมตรจากพื้นดิน หน้ากรีดที่ 2 เปิดกรีดที่รอยกรีดสูงระดับ 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน ซึ่งช่วงระยะห่างระหว่าง 2 รอยกรีด 75-80 เซนติเมตร ซึ่งวิธีนี้ทำให้ต้นยาง มีเวลาพักเพื่อสร้างน้ำยางได้ โดยปกติต้นยางจะใช้เวลาในการสร้างน้ำยางประมาณ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน จึงทำให้กระบวนการสร้างน้ำยางเกิดขึ้นสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น จากวิธีดังกล่าวสามารถเพิ่มผลผลิต สูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน 24-28% นอกจากนี้ ได้ทดลองกรีดหลังจากกรีดยาง 7 ปี พบว่าให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18% ดังนั้น การใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด เป็นระบบใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน18% จึงเป็นระบบกรีดที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต และไม่เป็นอันตรายต่อต้นยาง ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย เพราะใช้ถ้วยรองรับน้ำยางใบเดียวกัน สลับใช้ เพียงแต่เพิ่มค่าขดลวดแขวนต้นยางเท่านั้น

วิธีแก้แสบร้อนที่มือเพราะพริกขี้หนู

ใครที่เคย หั่น ซอย หรือว่าเด็ดพริกขี้หนู แล้วทำให้มือเกิดอาการแสบร้อน วันนี้เกร็ดความรู้มีวิธีแก้เรื่องนี้มาฝากกัน....

 

วิธีแรก คือ ให้นำเกลือแกง (เกลือเค็ม ๆ ที่ใช้ปรุงอาหาร) สักหนึ่งช้อนโต๊ะ ลูบลงบนมือถูไปถูมาความแสบร้อนก็จะคลายลง
ส่วนอีกวิธี คือ แทนที่จะใช้เกลือแกง ก็ให้หันไปใช้แป้ง ไม่ว่าจะเป็นแป้งเด็กทาตัว หรือแป้งหมี่ที่ใช้ทำอาหาร นำมาลูบถูไปตรงบริเวณที่รู้สึกแสบร้อน สักครู่ก็จะรู้สึกดีขึ้น
ลองนำวิธีที่แนะนำไปปฏิบัติตามกันดูได้.

การปรับปรุงคุณภาพลองกอง

ลองกองนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งของภาคใต้ที่รองลงมาจากยางพารา แต่ในช่วงของปีที่ผ่านมาผลผลิตของลองกองที่มีออกขายอยู่ตามท้องตลาดมีน้อยมากสืบเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ผ่านมาของภาคใต้ได้มีฝนตกอยู่ตลอดทั้งปีทำให้ลองกองไม่ติดดอก คุณเฝน เส็มอุมา ซึ่งเป็นวิทยากรในเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพของลองกองแนะนำวิธีการให้ดังนี้


การจัดการหลังจากที่ฝนแล้ง/ทิ้งช่วง :
1. ให้เรากวาดโคนต้นลองกอง วิธีการกวาดคือให้เก็บใบไม้ที่ร่วงและหญ้าต่างๆที่ขึ้นอยู่บริเวณรอบทรงพุ่มของต้นลองกองให้หมดก็คือรอบทรงพุ่มจะต้องเห็นเป็นดิน
2. หลังจากนั้นให้นับวันจากวันที่เรากวาดโคนต้นลองกองไปประมาณ 40 วัน ก็ให้รดน้ำสัก 3 วัน
3. หลังจากนั้นให้สังเกตที่ใบลองกองถ้าใบเหลืองและเฉาแล้ว ก็ให้เราใส่ปุ๋ยเร่งดอกสูตร 8 - 24 - 24 ต้นละ 2 ½ กิโลกรัม
4. ให้รดน้ำต่ออีก 7 วันแล้วหยุดการลดน้ำ ส่วนการให้น้ำก็ให้ต้นละ 30 นาทีต่อวัน
5. หลังจากนั้นให้ดูการเริ่มแตกดอก แล้วให้รดน้ำอีก 1 อาทิตย์ แล้วก็ให้ดูดอกพอดอกเริ่มบานให้เราเลือกดอกที่จะเก็บไว้โดยให้ตัดช่อดอกที่อยู่ด้านบนกิ่งออกเหลือไว้เฉพาะช่อที่อยู่ใต้กิ่ง การไว้ช่อดอกก็ให้วัดเอาโดยวัดระยะห่างของช่อดอกประมาณ 20 เซนติเมตรต่อ 1 ช่อ
6. เมื่อลองกองติดผลแล้วให้ใช้ปุ๋ยสูตร 13 - 13 - 21 ใส่บำรุงผลจนกว่าผลจะใหญ่ ให้ใส่เดือนละครั้งใส่ประมาณ 1 กระป๋องนม
7. การเก็บเกี่ยวให้นับเวลา 6 เดือนจากการติดดอก และ 3 เดือนจากการติดผล
8. พอเราตัดผลเสร็จแล้วก็ให้ใส่ปุ๋ยชีวภาพประมาณต้นละ 5-7 กิโลกรัม และก็ตัดแต่งกิ่งพร้อมกันไปด้วย สำหรับการดูแลเรื่องการให้น้ำในช่วงที่ลองกองติดผลมีเคล็ดลับง่ายๆคือให้ดูที่ช่อดอกในตอนเช้า ถ้ามีเหงื่อที่ช่อผลก็แสดงว่าลองกองสมบูรณ์เรื่องของน้ำยังเพียงพออยู่

การจัดการสวนยางในช่วงฤดูฝนและหลังน้ำท่วม

ในช่วงฤดูฝนของทุกปี อุทกภัยที่เกิดขึ้นจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะทางภาคใต้นั้น มักจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอยู่เสมอ และก่อให้เกิดปัญหาแก่เจ้าของสวนยางสวนยางพาราของพี่น้องชาวสวนยางก็เช่นกัน ในแต่ละปีก็มักจะได้รับผลกระทบที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และขณะนี้ก็เป็นช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักติดต่อกันบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นมาได้ นอกจากจะไม่สามารถกรีดยางได้แล้ว การระบาดของโรคยางก็เป็นปัญหาสำคัญโรคที่มักจะเกิดกับต้นยางในช่วงฤดูฝน   ถึงแม้จะไม่รุนแรงจนทำให้ต้นยางตายแต่มีผลทำให้ต้นยางแคระแกร็น ผลผลิตลดลงได้และในขณะเดียวกันการเกิดสภาวะน้ำท่วมก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ต้นยางได้เช่นกัน


การจัดการสวนยางหลังจากประสบกับภาวะน้ำท่วม :
ในกรณีที่เกิดภาวะน้ำท่วม เมื่อหลังน้ำท่วมผ่านไปชาวสวนยางควรทำประการแรก คือ ให้เกษตรกรทำการสำรวจสภาพทั่วไปของสวนยางของท่าน ถ้าหากยังมีน้ำท่วมขัง ให้ทำการระบายน้ำออกไปจากสวนยาง ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกไปจากสวนยางได้ เนื่องจากบริเวณรอบสวนยางมีสภาพพื้นที่สูงกว่า ขอให้เกษตรกรขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถวยาง เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในร่องน้ำที่ขุดไว้ ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการขุดร่องน้ำ เพราะจะทำให้โครงสร้างดินเสียหาย และอาจทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบรากเป็นอันตรายต่อต้นยางได้ ควรใช้แรงงานหรือเครื่องจักรขนาดเล็กได้ตามความเหมาะสมของสวนยางแต่ละแห่ง
ถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นกับต้นยางอายุน้อยกว่า 1 ปี ในกรณีที่ต้นยางได้รับความเสียหายมากหรือตายไปให้รอปลูกซ่อมด้วยยางชำถุงในปีถัดไป โดยปลูกซ่อมให้เร็วที่สุดเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับต้นที่กิ่งกระโดงได้รับความเสียหาย ให้ตัดกิ่งกระโดงส่วนที่ได้รับความเสียหายทิ้งไป เพื่อป้องกันการตายจากยอดลงมา แล้วทาด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราเข้าทำลายที่อาจก่อให้เกิดอาการเน่าของบาดแผล โดยใช้สารเคมีเบนเลทผสมน้ำให้มีความเข้มข้น 5 % ทาให้ทั่วบาดแผลที่ตัดแต่งไว้
จากนั้นรอการแตกแขนงใหม่ตามวิธีบำรุงรักษาต้นยางปกติต่อไป โดยให้เหลือกิ่งกระโดงกิ่งเดียวเพื่อเจริญเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ตามปกติ ในกรณีที่ต้นยางอยู่ในสภาพตั้งตรงแล้วควรระมัดระวังอย่าให้เป็นอันตรายต่อรากต้นยางด้วย
กรณีต้นยางอายุ 1-2 ปี ซึ่งเป็นต้นยางที่ยังไม่มีทรงพุ่มใบ หรือมีการแตกกิ่งบ้างเพียงเล็กน้อย ให้รีบช่วยเหลือต้นยางที่ล้มเอนเอียงให้ตั้งตรงในขณะดินเปียกชื้น แล้วใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคงอันดินที่โคนต้นให้แน่น ระวังอย่าให้เป็นอันตรายกับรากยาง ในกรณีที่ยอดหักเสียหายให้ตัดทิ้ง แล้วทาด้วยเบนเลทผสมน้ำเข้มข้น 5 % เช่นกัน คอยตัดแต่งกิ่งที่แตกออกมาให้เหลือเพียงกิ่งเดียว เพื่อเป็นลำต้นหรือยอดต่อไป และในกรณีที่เปลือกลำต้นได้รับความเสียหาย อาจจะต้องขูดส่วนที่เสียหายทิ้งไปบ้าง แล้วควรทาปูนขาวผสมน้ำเข้มข้น 10-20 % เพื่อป้องกันการคายน้ำและแดดเผาไหม้ ซึ่งอาจจะทำให้ต้นยางแห้งตายได้ในเวลาต่อมา ต้นยางเหล่านี้จะแตกแขนงออกมาภายใน 3-4 สัปดาห์ ต้องตัดแต่งออกให้หมดให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน 2.0-2.5 เมตรขึ้นไป เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นทรงพุ่มและพัฒนาเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ตามปกติต่อไป
กรณีต้นยางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมมีอายุ 2-3 ปีแล้ว สภาพปกติต้นยางอายุ 2-3 ปี จะเริ่มสร้างทรงพุ่มที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง ต้นยางที่ล้มเอนจะมีส่วนที่กิ่งก้านฉีดขาดไปบ้างบางส่วน ถ้าลำต้นยังอยู่ในสภาพปกติและรากแก้วสมบูรณ์ ให้รีบตัดกิ่งก้านพุ่มใบทิ้งให้สูงจากพื้นดิน 2.5 เมตร แล้วใช้เชือกดึงลำต้นขึ้นตั้งตรงพร้อมกับใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคงจากนั้นกลบดินโคนต้นอัดให้แน่นแล้วทาปูนขาวที่ผสมน้ำเข้มข้น 10-20 % ส่วนลำต้น เพื่อป้องกันแดดเผาไหม้เสียหาย ขั้นต่อไปคอยตัดแต่งกิ่งแขนงตลอดลำต้นทิ้งออกไปให้หมด โดยพยายามตัดให้ชิดลำต้นมากที่สุด เหลือไว้เฉพาะส่วนยอดลำต้นที่ระดับ 2.0-2.5 เมตร เพื่อพัฒนาเป็นทรงพุ่มปกติต่อไป
กรณีต้นยางใหญ่กรีดได้แล้ว มักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าต้นยางเล็ก ต้นยางเปิดกรีดที่ยังอยู่ในสภาพปกติ ขอให้งดการกรีดยางไปก่อนจนกว่าสภาพดินจะแห้งปกติ เพราะในสภาพน้ำท่วมขังรากยางบางส่วนจะได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย จะไม่สามารถใช้ธาตุอาหารได้ การกรีดยางอาจจะเกิดความเสียหายให้กับหน้ากรีดได้ นอกจากนั้นควรทาหน้ากรีดด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันโรคเส้นดำ เช่นสารเคมีเมทาแลคซิล เป็นต้น
การจัดการน้ำท่วมขังสวนยาง :
นอกจากปัญหาเรื่องโรคยางแล้ว เจ้าของสวนยังต้องเฝ้าระวัง ผลกระทบต่อสวนยาง จากภาวะน้ำท่วม ก็อาจจะเป็นปัญหาที่ตามมาอีก ถ้าหากเกิดน้ำท่วมขังในบริเวณสวนยาง มีแนวทางการจัดการดังนี้
ควรเร่งระบายน้ำออก ถ้าไม่สามารถทำได้เนื่องจากบริเวณรอบสวนมีสภาพพื้นที่สูงกว่า ขอให้ทำการขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถว เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในคูที่ขุดไว้ต้นยางที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ที่เสียหายมากหรือตายไป ให้ปลูกซ่อมด้วยต้นยาง ชำถุงให้เร็วที่สุด เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับต้นยางเล็กอายุ 1-2 ปี ถ้าหากเอนล้มให้ทำการยกตั้งให้ตรง ใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคง อัดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น ในกรณีที่ยอดหักหรือเกิดความเสียหาย ให้ตัดทิ้งแล้วทาด้วยสารเบนเลท เข้มข้น 5% หมั่นคอยตัดแต่งกิ่งให้เจริญเติบโตไปตามปกติต่อไป.

การดูแลสวนยางในฤดูแล้ง

นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เผยว่า 
วิธีการดูแลสวนยางในช่วงฤดูแล้ง: 
- ในช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงที่อากาศร้อน ขาดความชุ่มชื้น เกษตรกรจึงต้องเอาใจใส่ดูแลต้นยางเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งต้นยางในช่วง 2 ปีแรก ที่ปลูกในเขตแห้งแล้ง ที่ระบบรากยังไม่สมบูรณ์ อาจชะงักการเจริญเติบโตหรืออาจแห้งตายได้ 
- การคลุมโคนต้นยางด้วยเศษซากพืช ซากวัชพืชที่หาได้ในท้องถิ่น จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตอย่างเป็นปกติต่อไป 
- ขณะเดียวกันต้นยางในช่วง 2 ปีแรก ที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดดบริเวณลำต้น ทำให้เปลือกลำต้นไหม้และเป็นรอยแตก เนื่องจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นรับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งเกษตรกรควรใช้ปูนขาว (ปูนที่ใช้ปรับสภาพดิน) ละลายน้ำ ทาบริเวณโคนต้นตรงส่วนที่มีสีน้ำตาล หรือสีเขียวอมน้ำตาล หรือสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

- ทั้งนี้ เกษตรกรต้องดูแลต้นยางอ่อนเพื่อให้รอดตายแล้ว เกษตรกรต้องให้ความระมัดระวังไฟไหม้สวนยางด้วย เพราะเป็นช่วงที่อากาศแห้ง รวมทั้งกระแสลมที่พัดรุนแรง โดยเฉพาะภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีช่วงแล้งยาวนาน ไม่ก่อกองไฟ หรือทิ้งก้นบุหรี่ในสวนยาง เฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ มีรถวิ่งผ่านไปมา
- ขณะเดียวกันเกษตรกรควรมีวิธีป้องกันไฟไหม้สวนยาง ซึ่งควรกระทำก่อนเข้าหน้าแล้ง โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยาง กำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร
- การกำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางเป็นการป้องกันไฟไหม้ที่เกิดภายในสวนยางและไม่ควรใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช เพราะวัชพืชที่แห้งตายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ดังนั้น หน้าแล้งเกษตรกรจึงควรเอาใจใส่ ปฏิบัติดูแลสวนยางเป็นพิเศษ

การบำรุงพื้นนาให้สมบูรณ์โดยใช้ถั่วพุ่ม

        หลังจากผ่านฤดูกาลทำนา เก็บเกี่ยวข้าวในนาหมดแล้ว เกษตรกรบางท่านปล่อยพื้นที่นาไว้โดยไม่ได้บำรุงพื้นที่นาเพื่อเตรียมไว้ในช่วงฤดูกาลหน้า แต่สำหรับป้าเจือ สิงโหพล เกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งปลูกข้าวนาปรัง และข้าวพันธุ์ที่ปลูกนั้นคือ ข้าวพันธุ์เล็บนก พันธุ์สังข์หยด และข้าวพันธุ์หอมมะลิ  ป้าเจือบอกว่าโดยวิธีการของป้าเจือหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวในแต่ละพื้นที่นาแล้ว จะตัดตอซังข้าวออกนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพโดยใส่ไว้ในคอกวัวและคอกหมูหลุม

ส่วนพื้นที่นานั้นจะมีวิธีการปรับสภาพดินให้ดีรอเตรียมไว้ปลูกข้าวในครั้งต่อไปโดยมีวิธีการปรับสภาพดินดังต่อไปนี้
1.ทำการตัดตอซังข้าวออกจากพื้นนา (สามารถเอาตอซังข้าวไปใส่ในคอกวัวหรือหมูหลุมเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักได้)
2.หว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่มลงไปในพื้นนา อัตราการหว่าน 3 กิโลกรัม / 1 ไร่
3.หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ทั่วพื้นที่นาแล้ว ให้ทำการไถกลบ
4.หลังจากถั่วพุ่มที่หว่านงอกและโตขึ้นในระดับพอเริ่มตั้งดอกให้ทำการไถกลบถั่วพุ่มที่ปลูกในพื้นที่นาอีกครั้ง
5.เมื่อไถกลบเรียบร้อยแล้วให้ปล่อยน้ำเข้านาให้น้ำขังในพื้นนารอช่วงที่จะทำนาครั้งต่อไป
6.และเมื่อเราจะเริ่มทำนารอบต่อไปให้เราทำการไถนาพื้นที่นานั้นเพื่อทำเทือก พร้อมสำหรับการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว
สำหรับวิธีการปรับสภาพดินโดยวิธีการข้างต้นนั้น ป้าเจือบอกว่าจะช่วยให้สภาพดินดี ปลูกข้าวครั้งต่อไปจะขึ้นงาม ต้นข้าวแข็งแรงสมบูรณ์