การดูแลสวนยางในฤดูแล้ง

นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เผยว่า 
วิธีการดูแลสวนยางในช่วงฤดูแล้ง: 
- ในช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงที่อากาศร้อน ขาดความชุ่มชื้น เกษตรกรจึงต้องเอาใจใส่ดูแลต้นยางเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งต้นยางในช่วง 2 ปีแรก ที่ปลูกในเขตแห้งแล้ง ที่ระบบรากยังไม่สมบูรณ์ อาจชะงักการเจริญเติบโตหรืออาจแห้งตายได้ 
- การคลุมโคนต้นยางด้วยเศษซากพืช ซากวัชพืชที่หาได้ในท้องถิ่น จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตอย่างเป็นปกติต่อไป 
- ขณะเดียวกันต้นยางในช่วง 2 ปีแรก ที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดดบริเวณลำต้น ทำให้เปลือกลำต้นไหม้และเป็นรอยแตก เนื่องจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นรับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งเกษตรกรควรใช้ปูนขาว (ปูนที่ใช้ปรับสภาพดิน) ละลายน้ำ ทาบริเวณโคนต้นตรงส่วนที่มีสีน้ำตาล หรือสีเขียวอมน้ำตาล หรือสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

- ทั้งนี้ เกษตรกรต้องดูแลต้นยางอ่อนเพื่อให้รอดตายแล้ว เกษตรกรต้องให้ความระมัดระวังไฟไหม้สวนยางด้วย เพราะเป็นช่วงที่อากาศแห้ง รวมทั้งกระแสลมที่พัดรุนแรง โดยเฉพาะภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีช่วงแล้งยาวนาน ไม่ก่อกองไฟ หรือทิ้งก้นบุหรี่ในสวนยาง เฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ มีรถวิ่งผ่านไปมา
- ขณะเดียวกันเกษตรกรควรมีวิธีป้องกันไฟไหม้สวนยาง ซึ่งควรกระทำก่อนเข้าหน้าแล้ง โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยาง กำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร
- การกำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางเป็นการป้องกันไฟไหม้ที่เกิดภายในสวนยางและไม่ควรใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช เพราะวัชพืชที่แห้งตายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ดังนั้น หน้าแล้งเกษตรกรจึงควรเอาใจใส่ ปฏิบัติดูแลสวนยางเป็นพิเศษ

0 ความคิดเห็น: