กรีดยางใช้ระบบกรีด 2 รอย ให้ผลผลิตสูง

การพัฒนาวิจัยระบบกรีดยางใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่สถาบันวิจัยยางต้องดำเนินการ  เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง  กรีดได้นานที่สุด 20-25 ปี  ทำความเสียหายกับต้นยางน้อยที่สุด  และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่กรีดที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น  และเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง  นอกเหนือจากระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวัน  หรือระบบกรีดสองวันเว้นวัน

จากการที่ราคายางพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเร่งกรีดยาง ขณะนี้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ใช้ระบบกรีดถี่หรือกรีดหักโหม โดยเฉพาะกับสวนยางที่เริ่มเปิดกรีดใหม่จะกรีด 4 วันเว้น 1 วัน และกรีด 3 วันเว้น 1 วัน โดยกรีด 1 ใน 3 ของลำต้น ทำให้ผลผลิตที่ได้ ต่อวันลดลง รายได้ต่อวันก็น้อยลงตาม และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นยางเพราะจะทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง อายุการกรีดสั้นลง นอกจากนี้ ยังมีผลต่อคุณภาพไม้ยาง ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ส่งผลเสียหายต่อรายได้เกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศที่อาจมีขึ้นในอนาคตข้างหน้า
กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองการใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด กับยางพันธุ์ RRIM 600 เพื่อหาระบบกรีดใหม่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้สูงขึ้น ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยการกรีดสลับหน้า ต่างระดับ เป็นวิธีการที่เปิดกรีดหน้ายางทั้ง 2 หน้ากรีด ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น วันเว้นวัน โดยหน้ากรีดแรกเปิดกรีดต่ำ ที่ระดับ 80 เซนติเมตรจากพื้นดิน หน้ากรีดที่ 2 เปิดกรีดที่รอยกรีดสูงระดับ 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน ซึ่งช่วงระยะห่างระหว่าง 2 รอยกรีด 75-80 เซนติเมตร ซึ่งวิธีนี้ทำให้ต้นยาง มีเวลาพักเพื่อสร้างน้ำยางได้ โดยปกติต้นยางจะใช้เวลาในการสร้างน้ำยางประมาณ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน จึงทำให้กระบวนการสร้างน้ำยางเกิดขึ้นสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น จากวิธีดังกล่าวสามารถเพิ่มผลผลิต สูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน 24-28% นอกจากนี้ ได้ทดลองกรีดหลังจากกรีดยาง 7 ปี พบว่าให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18% ดังนั้น การใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด เป็นระบบใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน18% จึงเป็นระบบกรีดที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต และไม่เป็นอันตรายต่อต้นยาง ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย เพราะใช้ถ้วยรองรับน้ำยางใบเดียวกัน สลับใช้ เพียงแต่เพิ่มค่าขดลวดแขวนต้นยางเท่านั้น

0 ความคิดเห็น: