งาเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพที่คนนิยมบริโภคพืชหนึ่ง เป็นพืชที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ (มีแร่ธาตุประมาณ 4.1 – 6.5%) แร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน สังกะสี และฟอสฟอรัส นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินโดยเฉพาะวิตามินบีมีอยู่เกือบทุกชนิด ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 2 บี 5 บี 6 บี 9 ไบโอดีน โคลีนไอโนซิตอล กรดพาราอะมิโนแบนโซอิค จึงทำให้งามีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท สมอง แก้อาการเหน็บชา อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และเบื่ออาหาร นอกจากนี้งายังมีสารเลคซิติน (Lecithin) ประมาณ 0.65% ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดระดับไขมันในเลือด น้ำมันงาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึง 80 – 85% ได้แก่ กรดโอเลอิค 36 –40% ลิโนเลอิค 42 –50% นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่สำคัญคือ sesamol sesamin และ sesamolin ซึ่งเป็นสารกันหืนธรรมชาติ และมีคุณสมบัติในการช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น ลดระดับไขมันในเลือด
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกงาปีละประมาณ 385,000 – 392,000 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 32,000 – 39,000 ตันผลผลิตเฉลี่ย 89.7 กก./ไร่ งาที่ปลูกโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามสีของเปลือกหุ้มเมล็ด คือ งาขาว งาดำ และงาแดง จากข้อมูลฝ่ายสถิติ กองแผนงาน กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ในปี 2541 ประเทศไทยมีการผลิตงาแดงมากที่สุด 16,595 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของปริมาณงานทั้งหมดที่ผลิตได้ งาดำมีการผลิตรองลงมาคือ 7,755 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ส่วนงาขาวมีการผลิตน้อยที่สุดเพียง 1,988 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของปริมาณงานทั้งหมดที่ผลิตได้ งาขาวเมล็ดโตเป็นลักษณะเมล็ดงาที่ตลาดต้องการมากทั้งภายในและต่างประเทศจากสถิติการส่งออกของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2541 ปรากฏว่าประเทศไทยส่งออกงาขาว (ทั้งเมล็ดงาขาวและงาขัดเปลือก) มากที่สุด 2,348 ตัน งาดำส่งออก 1,018 ตัน ส่วนงาแดง ไม่มีรายงานการส่งออก เนื่องจากตลาดต่างประเทศบริโภคเฉพาะงาขาวและงาดำเท่านั้น โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมปลูกงาแดง หรืองาดำ – แดงเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นได้จากปริมาณการผลิตสูงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในขณะที่การส่งออกจะส่งในรูปของงาขาว ดังนั้น จึงต้องผ่านกระบวนการเอาเปลือกหุ้มเมล็ดออก ทำให้เมล็ดเป็นสีขาว เรียกว่า งาขัด ก่อนส่งออก ดังน้นถ้าพันธุ์ที่ใช้ปลูกเป็นงาขาวจะทำให้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในกระบวนการขัดงาลงจึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์งาเพื่อให้ได้งาขาวเมล็ดโต ซึ่งเป็นลักษณะเมล็ดที่ตลาดต่างประเทศต้องการ มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะธาตุแคลเซียมและสารต้านอนุมูลอิสระสูง
ขั้นตอนการปรับปรุง
ในปี 2529 ได้ทำการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างงาขาวพันธุ์มหาสารคาม 60 (พันธุ์แม่) ซึ่งเป็นพันธุ์งาขาวที่ให้ผลผลิตสูง (ผลผลิตเฉลี่ย 116 กก./ไร่) มีขนาดเมล็ดค่อนข้างโต (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 2.90 กรัม) กับพันธุ์ Terrass 77 (พันธุ์พ่อ) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีขนาดเมล็ดโต (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 3.50 กรัม) ปลูกลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ในปลายฤดูฝน 2529 ปลูกและคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 2 – 7 ระหว่างปี 2530 – 2532 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีแล้วนำเข้าประเมินผลผลิตตามศูนย์ และสถานีทดลองพืชไร่ต่าง ๆ ดังนี้
การเปรียบเทียบเบื้องต้น
ในต้นฤดูฝนปี 2533 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี วางแผนการทดลองแบบ RCB 2 ซ้ำ จำนวน 59 สายพันธุ์/พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 2 แถว ๆ ยาว 7 เมตรใช้ระยะปลูก 50x10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วัน หลังถอนแยกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่า งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) มีขนาดเมล็ดโต โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.27 กรัม โตกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ทีมให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 2.97 กรัม หรือมากกว่าร้อยละ 10 และให้ผลผลิต 129 กก./ไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้ผลผลิต 135 ก./ไร่ คัดเลือกสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ได้ 11 สายพันธุ์
การเปรียบเทียบมาตรฐาน
ในต้นฤดูฝนปี 2534 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสถานีทดลองพืชไร่ร้อยเอ็ด วางแผนการทดลองแบบ RCB 3 ซ้ำ จำนวน 15 สายพันธุ์/พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 4 แถว ๆ ยาว 7 เมตร ใช้ระยะปลูก 50x10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วันหลังถอนแยกใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.20 กรัม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 113 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 2.99 กก. และให้ผลผลิต 95 กก./ไร่ หรือสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 7 และ 9 ตามลำดับ คัดเลือกสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ได้ 8 สายพันธุ์
การเปรียบเทียบในท้องถิ่น
ในต้นฤดูฝนปี 2536 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสถานีทดลองพืชไร่เลย ปลายฤดูฝนปี 2536 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี สถานีทดลองพืชไร่เลย และสถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลก ต้นฤดูฝนปี 2537 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่มุกดาหาร และสถานีทดลองพืชไร่เลย ปลายฤดูฝนปี 2537 ที่สถานีทดลองพืชไร่เพชรบูรณ์ สถานีทดลองพืชไร่มหาสารคาม และศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราธานี วางแผนการทดลองแบบ RCB4 ซ้ำ จำนวน 10 สายพันธุ์พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 6 แถว ๆ ยาว 7 เมตร ใช้ระยะปลูก 50 x 10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วัน หลังถอนแยกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.08 กรัม สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 5 และให้ผลผลิต 15 กก./ไร่ ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้ผลผลิต 123 กก./ไร่ คัดเลือกสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ 4 สายพันธุ์
การเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร
ในต้นฤดูฝนปี 2538 ดำเนินการที่ไร่เกษตรกร จังหวัดเลย ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สงขลา ในปลายฤดูฝนปี 2538 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดเลย ศรีสะเกษ มุกดาหาร มหาสารคามและเพชรบูรณ์ วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ จำนวน 6 สายพันธุ์/พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 10 แถว ๆ ยาว 8 เมตร ใช้ระยะปลูก 50 x 10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วันหลังถอนแยกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.22 กรัม สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 2.99 กรัม หรือสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 8 และให้ผลผลิตเฉลี่ยเฉลี่ย 99 กก./ไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์มหาสารคาม 60 (102 กก./ไร่) คัดเลือกไว้ได้ 2 สายพันธุ์
การทดสอบในไร่เกษตรกร
ดำเนินการในต้นฤดูฝนปี 2540 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ลพบุรี เลย ปลายฤดูฝนปี 2540 และ 2541 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ลพบุรี เลย และเพชรบูรณ์ ปลูกแบบไม่มีซ้ำ ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์/พันธุ์ มีงาขาวพันธุ์มหาสารคาม 60 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ปลูกงาตามวิธีของเกษตรกร โดยใช้อัตราเมล็ด 1 กก./ไร่ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กก./ไร่ หว่านปุ๋ยพร้อมปลูก ผลการทดลองพบว่า พันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.24 กรัม สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.04 กรัม หรือสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 7 และให้ผลผลิต 153 กก./ไร่ เท่ากับพันธุ์มหาสารคาม 60
ประเมินการยอมรับของเกษตรกร
ได้จัดทำแปลงสาธิตงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ที่สถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท สถานีทดลองพืชไร่เพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในปี 2544 พร้อมจัดอบรมการปลูกงาที่ถูกต้องและเหมาะสมและการแปรรูปงารวม 4 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วมฝึกอบรมและประเมินการยอมรับพันธุ์ของเกษตรกร จำนวน 186 ราย โดยใช้แบบสอบถาม พบว่าเกษตรกรทั้งหมดให้การยอมรับในงาสายพันธุ์นี้ เนื่องจากมีจำนวนฝักดก มีขนาดเมล็ดโตและสีขาวสะอาด ได้กระจายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรเพื่อขยายผลให้มากขึ้น
ลักษณะเด่นของงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2
1. มีขนาดเมล็ดโต (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.18 กรัม) โตกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 60
2. ให้ผลผลิตสูง 122 กก./ไร่ เท่ากับพันธุ์มหาสารคาม 60
3. มีปริมาณสาร antioxidants 10,771 มก./กก. สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 16
4. มีปริมาณธาตุแคลเซียม 0.69% สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 6
ข้อควรระวัง
งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ไม่ต้านทานต่อโรคเน่าดำที่เกิดจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina และโรคไหม้ดำที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum เช่นเดียวกับพันธุ์มหาสารคาม 60 ในแหล่งที่มีโรคระบาดรุนแรง ควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรไถตากดินทิ้งไว้ก่อนปลูกงาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อ
2. คลุกเมล็ดงาก่อนปลูกด้วยสารแคปแทนหรือเบนโนบิล อัตรา 2.5-5 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือใช้สารดังกล่าวอัตรา 15 – 20 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดโคนต้นงาเมื่ออายุ 15 30 และ 45 วัน เพื่อควบคุมโรคเน่าดำ
3. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นพืชอาศัยของเชื้อทั้งสอง ชนิดหมุนเวียนกับงา เช่น ถ่วพร้า อ้อยคั้นน้ำและปอแก้ว
4. เมื่อพบต้นเป็นโรคให้รีบถอนและเผาทำลาย
พื้นที่แนะนำ
งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี2 (LH 220) สามารถใช้เป็นพันธุ์ปลูกได้ทั่วไปของภาพการผลิตงาของประเทศไทย โดยเฉพาะในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงในปลายฤดูฝน จะได้ให้ผลผลิตสูงและเมล็ดมีคุณภาพดี
ความพร้อมของพันธุ์
ในปี 2545 ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีได้ผลิตเมล็ดพันธืหลักงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) จำนวน 5 ไร่ จะได้เมล็ดพันธุ์หลักจำนวน 0.5 ตัน ซึ้งสามารถปลูกขยายได้ในพื้นที่ 500 ไร่
การตั้งชื่อ
เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และได้เคยรับรองพันธุ์งามาแล้วคืองาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 จึงขอตั้งชื่องาสายพันธุ์ใหม่ว่า “งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2” (Ubonratcha- thani 2) และได้ผ่านมติคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธืกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545
ลักษณะทางการเกษตร
ลักษณะ | อุบลราชธานี 2 | มหาสารคาม 60 |
1. อายุออกดอก (วัน) 2. อายุเก็บเกี่ยว (วัน) 3. ความสูง (ซม.) 4. จำนวนกิ่งต่อต้น 5. จำนวนฝักต่อต้น 6. น้ำหนัก 1,000 เมล็ด (กรัม) 7. ผลผลิตเฉลี่ย (กก./ไร่) | 30 – 32 80 – 85 148 0 – 1 38.3 3.18 122 | 28 – 32 75 – 85 147 0 – 1 39.8 2.99 122 |
ที่มา : จากแปลงเปรียบเทียบเบื้องต้น มาตรฐาน ในท้องถิ่น ในไร่เกษตรกร และแปลงทดสอบในไร่
เกษตรกร รวม 34 แปลง
คุณสมบัติทางเคมี
ลักษณะ | อุบลราชธานี 2 | มหาสารคาม 60 |
1. น้ำมัน (%) 2. Antioxidants (มก./กก.) 1/ 3. ธาตุแคลเซียม (%) 1/ 4. ธาตุโพแทสเซียม (%) 1/ 5. ธาตุฟอสฟอรัส (%) 1/ | 49.3 10,771 0.69 0.4 042 | 48.7 9,255 0.65 0.48 0.66 |
1/ วิเคราะห์โดยกองเกษตรเคมี
ที่มา : จากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่เกษตรกรปี 2538