สาหร่ายสไปรูลิน่า บนแผ่นดินร้อยเอ็ด

algae

 

บนผืนดินอีสานตอนกลาง อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ใน 17 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ ถือว่าเป็นอำเภอที่แห้งแล้งที่สุด นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำยุทธศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ด "แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดี ที่ท่องเที่ยวมากแห่ง แรงงานมีคุณภาพ" พัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการประสานงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ค้นหาค้นคว้าภูมิปัญญาของคนเมืองร้อยเอ็ด หามาเพิ่มเติมให้เต็ม อำเภอศรีสมเด็จ เป็นอำเภอที่แปลกและเป็นดินแดนที่มหัศจรรย์ พื้นที่ดินร่วนปนทรายถึงทรายจัด เกษตรกรที่อำเภอศรีสมเด็จ นำพืชต่างถิ่นมาปลูกทดแทนพืชที่มีอยู่ดั้งเดิมจนเป็นรายได้หลัก อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง แตงแคนตาลูป แตงโซโย่ และพืชมหัศจรรย์อย่างยาสูบพันธุ์เตอร์กิ๊ส ที่สร้างรายได้ปีละนับร้อยล้านบาท
นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก บนพื้นฐานที่มีแรงงานที่มีคุณภาพ และควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม บริษัท เฟิสท์ ไลน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย นายคงพร พรรณ์แผ้ว กรรมการผู้จัดการ และ นางมะลิวัลย์ พรรณ์แผ้ว เป็นผู้ที่นำกิจกรรมการสร้างเงินสร้างงานเพื่อชาวบ้าน คือการเลี้ยงสาหร่าย "สไปรูลิน่า" ที่บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 13 ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นงานกึ่งการทดลองกึ่งวิทยาศาสตร์ บนความสำเร็จเพียงระยะเวลาสั้นๆ คือ 10 วัน สามารถได้เงินหลายแสนบาท ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรร่วมกิจกรรม 12 คน

ครั้งนี้ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่บ้านก่อ หมู่ที่ 13 ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวอำเภอเพียง 700 เมตร นายคงพร และ นางมะลิวัลย์ พรรณ์แผ้ว เล่าในรายละเอียดให้ฟังว่า

ตนเองมองเห็นความสำคัญของสาหร่าย "สไปรูลิน่า" ซึ่งเป็นสารสกัดจากสาหร่ายเพื่อบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะสามารถลดน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ตนเองตัดสินใจเพาะเลี้ยง "สาหร่ายเกลียวทอง" สไปรูลิน่า เพื่อขายให้นายทุนจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เปิดรับสมาชิกและชักชวนเพื่อนบ้านกว่า 12 คน ตั้ง "กลุ่มสาหร่ายเกลียวทอง" เมื่อปี 2534 เพื่อผลิตและส่งไปจำหน่ายที่ตลาดกรุงเทพฯ ลำปาง และเชียงใหม่ พร้อมทั้งนำสาหร่ายมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ขายด้วย ตลาดมีการตอบสนองดีมากไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นายคงพร กล่าวอีกว่า สมาชิกที่ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มาด้วยความสมัครใจในการจัดตั้งกลุ่ม ด้านการตลาดสาหร่ายเกลียวทองยังเป็นที่ต้องการสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำเป็นอาหารสัตว์เศรษฐกิจ เช่น อาหารกุ้งกุลาดำ ปลามังกร ปลาเมอรี่ ปลาอโรเวนา และปลาสวยงามชนิดต่างๆ และบางส่วนจะมีนายทุนซื้อไปสกัดเอา "สไปรูลิน่า" ก่อนนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ได้อีกหลายชนิด หลังจากได้รวมกลุ่มกันแล้ว มีการแบ่งระบบการทำงาน ได้จัดรูปแบบการบริหารกลุ่ม โดยตนเอง และนางมะลิวัลย์ ภรรยา เป็นผู้คอยดูแลเรื่องตลาด และตรวจสอบคุณภาพสาหร่ายให้กับสมาชิก หรือเป็นผู้อำนวยความสะดวก นัยหนึ่งคือคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิกของกลุ่มเพราะงานด้านการผลิตเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน การจัดการสมาชิกมีการเลี้ยงสาหร่ายด้วยตัวเองแบบการปฏิบัติจริง โดยให้สมาชิกมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน

นางมะลิวัลย์ เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองนั้น ในแต่ละวันสมาชิกจะใช้เวลามาเลี้ยงสาหร่ายเพียงแค่ครึ่งวัน ส่วนเวลาที่เหลือสามารถไปประกอบอาชีพด้านอื่นได้ ถือว่าการเลี้ยงสาหร่ายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแต่ใช้เวลาน้อยนิด เสริมอาชีพภาคการเกษตรที่ปฏิบัติได้ตามปกติ "ตอนนี้ให้สมาชิกเลี้ยงสาหร่ายเป็นของตัวเอง การตลาด ตนเองและภรรยาจะรับซื้อจากสมาชิกในราคากิโลกรัมละ 100 บาท จากนั้นจะนำไปขายต่ออีกครั้ง ส่วนเหตุผลที่ต้องรับซื้อจากสมาชิกเพียงกิโลกรัมละ 100 บาทนั้น เนื่องจากสมาชิกทุกคนไม่ได้ลงทุนอะไร เพียงแต่ใช้แรงกายในการดูแลเลี้ยงสาหร่ายเท่านั้น ถือว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านก่ออย่างต่อเนื่อง"

ขั้นตอนการเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า หรือสาหร่ายเกลียวทอง เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากนัก ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองนั้น เริ่มต้นที่การขุดบ่อคลุมด้วยผ้าพลาสติกในพื้นที่กลางแจ้ง ขณะนี้พื้นที่มี 30 บ่อ เป็นบ่อขนาด 4 x 20 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร เป็นบ่อเลี้ยง บ่อพักน้ำ ขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร เพื่อปล่อยน้ำสะอาดใส่คลอรีนพักไว้ 3-5 วัน อาหารจำพวกมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก สารโซเดียมคาร์ไบคาร์บอเนต โซเดียมไตรฟอสเฟต โพแทสเซียมไตรฟอสเฟต สารสกัดชีวภาพ ปุ๋ย เอ็นพีเค สูตร 16-16-16 จำนวน 15 กิโลกรัม ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง ระดับน้ำที่สูบจากหนองน้ำธรรมชาติเพียงพอตลอดทั้งปี เมื่อการเตรียมบ่อน้ำมีอาหารพร้อมก็ใส่พันธุ์สาหร่ายเกลียวทอง ที่คัดสรรคุณภาพความสมบูรณ์เอาไว้ผสมลงไปในบ่อน้ำในอัตราน้ำ 50 ตัน ต่อสาหร่าย 25 ตัน แล้วกวนน้ำด้วยเครื่องจักรหรือกังหันน้ำ ที่ทำขึ้นมาใช้งานเฉพาะเวลากลางวัน เพื่อให้สาหร่ายผสมกับอาหารและได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง สาหร่ายเจริญเติบโตเต็มที่มีสีเขียวเข้มปนสีน้ำเงิน ใช้เวลาประมาณ 10 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแสงแดดด้วย

นางมะลิวัลย์ กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวสาหร่ายสไปรูลิน่า หรือสาหร่ายเกลียวทอง จะมีการดูดน้ำสาหร่ายในบ่อขึ้นไปกรองผ่านผ้าขาวบางแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดนำมาผึ่งให้แห้งที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส การเก็บสาหร่ายภายในบ่อจะเก็บเพียง 3 ใน 4 ส่วนของบ่อเท่านั้น และต้องให้เหลือเป็นเชื้อพันธุ์อีก 1 ใน 4 ส่วนของบ่อ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียงสองวัน ก่อนนำสาหร่ายไปตั้งบนเครื่องกรองน้ำออก นำไปตากแดดภายในโรงเรือนกระจกรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อแห้งได้ที่เก็บรักษาเข้าถุงสู่ขั้นตอนการผลิตครั้งสุดท้าย คือ การบดให้ละเอียดครั้งละ 100 กิโลกรัม โดยเครื่องบดบรรจุใส่ถุงพลาสติกปิดให้มิดชิด ในอุณหภูมิที่พอเหมาะคือแห้งและเย็น เตรียมการขนส่งสู่ตลาดกรุงเทพฯ ลำปาง เชียงใหม่ ระยะเวลาเพียง 10 วัน ขนาด 1 บ่อ สามารถสร้างรายได้มากกว่า 2,000 บาท/บ่อ

แม้วันนี้ แนวคิดของ "คงพร และ มะลิวัลย์ พรรณ์แผ้ว" มีการจัดรูปแบบของสถานที่ด้านการจัดรูปการส่งเสริมการเกษตร ที่ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นหันมาเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองเป็นอาชีพ จะมีรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานในชุมชนได้ระดับหนึ่ง พร้อมมีการทดลองการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามสามารถเจริญเติบโตดีมาก พร้อมเป็นข้อศึกษาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หากมีผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร. (043) 508-016, (01) 400-4459 หรือที่ E-mail. phanphaew.m@chaiyo.com

นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในตอนท้ายว่า การสร้างเงินสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการลงทุนของภาคประชาชนหากมีความผิดพลาดหรือเร่งการลงทุนโอกาสผิดพลาดสูง เพราะหากเกิดลัทธิการเอาอย่างเป็นข้อเสียหายได้ ฉะนั้น จังหวัดร้อยเอ็ดจึงส่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคอยกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

0 ความคิดเห็น: