บัว...เส้นทางสู่พืชเศรษฐกิจ

lotus

 

"บัว" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของพุทธศาสนา สำหรับคนไทยแล้วจะถือว่า "บัว" เป็นดอกไม้ชั้นสูงใช้บูชาพระ ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องได้กล่าวถึง "บัว" ในหลายลักษณะ ทั้งที่เปรียบเทียบกับสรีระของผู้หญิง ใช้อุปมาอุปไมยกับสติปัญญา หรือพฤติกรรมของคน และเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นผู้มีบุญ เช่น

เปรียบกับสรีระของผู้หญิง
"บัวตูมติดขั้วบังใบ บังใบท้าวไท
ว่าเต้าสุดาดวงมาลย์"

อุปมาอุปไมยกับพฤติกรรมของคน
"บงกชเกิดต่ำต้อย โคลนตม
มั่นมุ่งเบื้องอุดม ฝ่าน้ำ
ขุ่นใสไป่ยอมจม อยู่ใต้
บริสุทธิ์ผุดผ่องล้ำ เหล่าไม้ ดอกงาม"

เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญ
"บังเกิดเป็นปทุมเกสร
อรชรรับแสงพระสุริฉาน
ขึ้นในอุทรแล้วเบิกบาน
มีพระกุมารโฉมยง
อยู่ในห้องดวงโกเมศ
ดั่งพรหมเรืองเดชครรไลหงส์
จึงพระกฤษณฤทธิ์รงค์
อุ้มองค์กุมรรแล้วเหาะมา"
(รามเกียรติ์ ตอน กำเนิดท้าวอโนมาตัน)

ปรมาจารย์ทาง "บัว"

ตั้งใจมานานแล้วว่า อยากเขียนเรื่อง "บัว" เพราะได้เห็นบัวในที่ต่าง ๆ สีสันแปลกๆ ลักษณะดอกก็ไม่เหมือนกันเข้าใจว่าชื่อก็คงต่างกัน แต่เราไม่รู้จัก เรียกแต่ "บัว" สงสัยอีกว่าทำไมดอกบัวเหมือนกัน แต่บางชนิดบานตอนกลางวัน บางชนิดบานตอนกลางคืน สาย ๆ หน่อยก็หุบ แล้ว สงสัยอีกว่า บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง บัวสาย ต่างกันอย่างไร และบัวที่เราเคยเห็นและชอบถ่ายภาพเก็บไว้นั้นเป็นบัวชนิดใด เม็ดบัวที่เราชอบรับประทานนอกจากบัวหลวงแล้วเม็ดบัวชนิดอื่นมีหรือไม่ และรับประทานได้หรือไม่
เมื่อหลายปีมาแล้ว เคยสัมภาษณ์เกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น เรื่องการทำนาบัว เป็นสารคดีโทรทัศน์รู้สึกสนใจ แต่นาบัวนั้นเน้นการเก็บดอกขาย ยังคิดอยู่ว่าทำไมเขาไม่ขายส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ใบบัว ฝักบัว และเม็ดบัว ซึ่งน่าจะมีรายได้ดีกว่าการขายดอกอย่างเดียว ล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฟังวิทยุผู้จัดการรายการนำข่าวเรื่องของสมุนไพรมาเสนอตอนหนึ่งก็บอกว่า มีผู้เสนอให้นำบัวมาผลิตยาเหมือนยาไวอะกร้า ก็เลยสนใจบัวขึ้นมาอีก ไม่ได้สนใจยาไวอะกร้า แต่สนใจว่าในแง่ของสมุนไพรแล้ว บัวทำอะไรได้บ้าง
ในหนังสือกสิกรฉบับประจำเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2546 ได้เคยนำเรื่องของสมุนไพรจีนมาเสนอ มีการกล่าวถึง "บัว" ด้วยว่า บัวหรือที่ชาวจีนเรียกว่า "ฮ้อ" มีสรรพคุณใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในตำรับยาจีนโบราณเป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของบัวเกือบทุกส่วน ได้แก่ ดอกบัว ใบบัว เมล็ดบัว รากบัว และไหลบัว ถ้าท่านอยากทราบว่าแต่ละส่วนมีสรรพคุณอย่าไรบ้าง โปรดหากสิกร เล่มนั้นมาเปิดอ่านดูอีกครั้ง ย้อนกลับไปเรื่องข่าววิทยุในข่าวเอ่ยถึง ดร. เสริมลาภ วสุวัต ว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว จริง ๆ แล้วทราบมานานแล้วว่า ท่านเป็นปรมาจารย์ในเรื่องของบัว ประกอบกับได้ไปค้นหนังสือกสิกรฉบับเก่าๆ พบว่าฉบับประจำเดือนมีนาคม - เมษายน 2535 คุณขวัญตา กังวาลวชิระธาดาและคุณปริญญา ชินโนรส ได้ไปสัมภาษณ์ ดร. เสริมลาภ นำมาเขียนเรื่อง "สวนบัวนานาพันธุ์" จึงคิดว่า จะเป็นไรไปถ้า "กสิกร" จะไปสัมภาษณ์อาจารย์อีกสักครั้ง หลังจากวันเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี
บ้าน "ปางอุบล" เลขที่ 150/5 ซอยติวานนท์ 46 (ซอยธรรมนูญ) ถ. ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี คือ บ้านพักของ ดร.เสริมลาถ วสุวัตในเนื้อที่กะด้วยสายตาว่าน่าจะกว่า 5 ไร่ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน หน้าบ้านเป็นสระบัวขนาดใหญ่ อ่างบัวขนาดต่างๆ วางเรียงรายสมกับชื่อว่า "ปางอุบล" แต่อยากจะเรียกว่า "อุทยานบัว" มากกว่า มีบัวสีต่าง ๆ บานรับแสงแดดยามสายที่เริ่มร้อนแรงขึ้นตามลำดับ ผึ้งตอมเกสรบัวกันสนุกสนาน คนสวนกำลังทำงานลอกสระ ตัดหญ้า และตกแต่งกอบัว อาจารย์ ดร.เสริมลาภเองสวนกางเกงขาสั้น เสื้อผ้าป่านคอกลมผ้าขาวม้าคาดเอว ใส่หมวกปีกกว้าง กำลังนั่งทำงานอยู่กับอ่างบัวของท่าน เมื่อผู้เขียนเข้าไปแนะนำตัว ท่านจึงนึกได้ว่านัดกันไว้ ท่านละจากงานและกระตือรือล้นรีบนำผู้เขียนไปถ่ายภาพบัวชนิดที่บานกลางคืน ก่อนที่บัวจะหุบในเวลาประมาณ 10 โมงเช้า เสร็จแล้วจึงมานั่งคุยกันในบรรยายกาศสงบร่มรื่นใต้ต้นไม้ใหญ่
ผู้เขียนแนะนำกับเพื่อนที่ไปด้วยกันว่า ดร. เสริมลาภ เป็นผู้เชี่ยวชาญยางพารา ของกรมวิชาการเกษตร ท่านรีบบอกว่า "ไม่ได้เชี่ยวชาญยางอย่างเดียว ทำมาสารพัดอย่าง" พร้อมกับท้าวความหลังให้ฟัง

ชนิดของบัว
ดร. เสริมลาภ จำแนกชนิดของบัวให้ฟังว่า เขาจัด ประเภทของบัวประดับไว้ 6 ชนิด ได้แก่

บัวหลวง เป็นบัวชนิดเดียวที่มีก้านแข็ว มีหนาม ก้านชูพ้นน้ำ มี 2 กลุ่มสีคือ กลุ่มเฉดสีแดง กับเฉดสีขาว
บัวฝรั่ง เรียกว่า Hardy Waterlily ถิ่นกำเนิดอยู่ในยุโรปและอเมริกา เขตอบอุ่นและเขตหนาว ไม่เกิดในเขตร้อน ใบเล็ก ต้นเล็ก ใบลอยบนน้ำ ดอกลอยบนผิวน้ำ มี 5 สี ขาว ชมพู แดง เหลือง และสีอมแสด
บัวผัน เป็นบัวที่มีดอกชูบานกลางวัน เรียกว่า Day - Blooming Tropical Waterlily มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนมีลักษณะที่แตกต่างจากบัวฝรั่ง คือ ดอกชูพ้นน้ำแต่ใบลอยเหนือน้ำ ดอกมี 9 สี คือ ขาว ชมพู แดง เหลือง แสด ฟ้าคราม ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน สีเหลือบ (เหลือบระหว่างฟ้ากับเหลือง) บัวผันมีข้อเสียคือ กลีบดอกไม่ซ้อน ข้อดีคือมีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับนำมาทำเครื่องประทินผิวและน้ำหอม ซึ่งภรรยาอาจารย์พยายามจะทำแต่ท่านต้องจากไปเสียก่อนจะทำเสร็จ อาจารย์ ดร. เสริมลาภ บอกว่าพยายมปรับปรุงพันธุ์บัวผันให้มีกลีบซ้อนมาก ๆ โดยธรรมชาติแล้ว บัวผันและบัวสาย จะมีกลีบดอกไม่เกิน 20 กลีบ แต่อาจารย์ได้พยายามพัฒนาพันธุ์เพิ่มกลีบมาได้ 30 กลีบแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการคัดเลือกพันธุ์ (Natural Selection)
บัวสาย เป็นบัวไทยแท้ เรียก Night - Blooming Tropical Waterlily เป็นบัวที่มีดอกชู เกิดในเขตร้อน บานกลางคืน คือบานตอนหัวค่ำ จะไปหุบในช่วงเวลา 9 - 10 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น มี 3 สี คือ ขาว ชมพู แดง ขยายพันธุ์ง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ข้อเสียคือ กลีบดอกไม่ซ้อนแต่มีดอกโต มีกลิ่นหอมเล็กน้อย
จงกลนี อันที่จริงจัดอยู่ในกลุ่มบัวผัน สันนิษฐานว่าเกิดจากการ Mutation นานมาแล้ว อยู่ในเมืองไทยเป็นร้อย ๆ ปี แต่ไม่มีใครดึงมาเผยแพร่ อาจารย์เสริมลาภไปพบเข้า จึงนำศึกษา หาวิธีการขยายพันธุ์ จนกระทั่งทุกวันนี้ บัวจงกลนีไปแพร่หลายอยู่ในต่างประเทศแล้ว อาจารย์บอกว่า "เป็นบัวไทยแท้แต่โบราณ" ลักษณะเหมือนบัวฝรั่ง คือ ใบและดอกลอยบนน้ำ ใบมีลักษณะเหมือนบัวผัน ลักษณะพิเศษคือดอกบานและไม่หุบ ผิดกับบัวผัน บัวสาย และบัวหลวง ที่ดอกจะบานและหุบสลับกัน บัวผัน บัวสาย จะบาน 3 วันแล้วทุบ บัวหลวงบาน 4 วัน แล้วหุบแล้วบานใหม่ แต่จงกลนีจะบาน 7 วันแล้วโรยไปเลย
บัวกระด้ง เป็นบัวมาจากอเมริกาใต้ บางคนเรียกว่า บัววิคตอเรีย ใบลอยแตะผิวน้ำ ขอบใบยกตั้ง และมีหนาม ใบมีขนาดใหญ่มาก
นอกจากนี้ยังมี บัวนางกวัก ซึ่งเป็นบัวที่มีดอกแปลกกว่าบัวอื่น ๆ คือ ดอกมีกลีบเลี้ยงใหญ่เหมือนกลีบดอก มีสีเขียว ซึ่งอาจารย์ ดร.เสริมลาภ บอกว่า บัวนางกวักจัดอยู่ในกลุ่มบัวผันเพราะสามารถผสมข้ามพันธุ์กับบัวผัน "บัวนางกวัก หลุกมาจากไหนไม่ทราบ พวกแม่ค้าขายบัว บอกว่ามาจากอินเดีย ระยะแรกมีสีเดียวคือสีชมพู ตอนหลังมาผสมกับบัวไทยขณะนี้มีถึง 6 สีแล้ว ผมเอามาปลูกเป้นคนแรก และมีคนเอาไปผสมพันธุ์ก็ได้พัฒนาขึ้นมามีถึง 6 สี" อาจารย์เล่าถึงบัวนางกวัก   เมื่อถามถึงการจดสิทธิบัตรคุ้มครองพันธุ์บัวต่าง ๆ ที่อาจารย์ได้ผสมขึ้นมาใหม่ อาจารย์รีบบอกว่า "ผมไปจดที่เมืองนอก ก็ไม่ถึงขั้นเป็นสิทธิบัตรอะไร เป็นแต่เพียงไปจดทะเบียนไว้ว่า บัวพันธุ์นี้ ลักษณะนี้ ชื่อนี้ เป็นของไทย จดทะเบียนไว้ที่ International Waterlily ซึ่งเป็นของ Water Gardenin Society "ไปขึ้นทะเบียนไว้เป็นสิบ ๆ พันธุ์แล้ว แต่สิทธิบัตรของไทยเราไม่ทราบว่าเขาพร้อมจะให้เขาจดหรือยัง เห็นบอกว่าไปขึ้นทะเบียนไว้ได้ แต่จดสิทธิบัตรยังไม่ได้" คงจะเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า "บัว" ยังไม่อยู่ในรายชื่อพืชที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

เป็นนักผสมพันธุ์บัว
อาจารย์ ดร.เสริมลาภ เล่าให้ฟังถึง การปลูกเลี้ยงบัวตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงขณะนี้ว่า "ผมเป็นนักรวบรวมพันธุ์บัวตอนที่อยู่กองการยาง ผมไปเมืองนอกทุกปี ๆ ละ 3 - 4 ครั้ง เพราะมีเรื่องที่ต้องไปเกี่ยวข้องมากมาย ไปทีไรเมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็จะขอลากิจส่วนตัว 1 - 2 วัน ไปหาเก็บบัวพวกนี้มา รวบรวมมาตั้งแต่ ปี 2512 เดี๋ยวนี้ก็ยังทำอยู่แจ่ช่วงปลาย ๆ คือ ช่วงนี้ การสั่งบัวเข้ามามีน้อยลง เราสามารถพัฒนาพันธุ์ของเราเองขึ้นมาได้แล้ว เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้สั่งพันธุ์บัวมาจากต่างประเทศเลยนอกจากเพื่อนฝูงจากเมืองนอกมาหา อยากได้อะไรก็บอกให้เขาเอามาฝาก" การนำบัวเข้ามานั้น อาจารย์กล่าวว่า ถ้าเป็นบัวผัน หรือบัวสาย จะนำเข้ามาเป็นหัว ถ้าเป็นบัวฝรั่ง เขาขาย เป็นเหง้า ที่เรียกว่า Root หรือ Rhizome ก็นำเข้ามาเป็นเหง้ามียอดติดมานิดเดียว เข้ามาง่าย ๆ ด้วยการห่อพลาสติกเข้ามาเท่านั้นไม่ได้วิธีการอะไรมาก ระยะหลัง อาจารย์ ดร.เสริมลาภอ มีเวลาอยู่กรุงเทพฯ ค้านข้างนาน จึงเริ่มผสมพันธุ์บัวเองประมาณ ปี 2521 เมื่อถามถึงวิธีการผสมพันธุ์
บัว อาจารย์บอกว่า "แล้วแต่ว่าจะต้องการอย่างไร ถ้าจะผสมตัวเอง ก็ใช้วิธีคลุมถุง ไม่ให้ไปผสมกับคนอื่น ใช้ถุงพลาสติกคลุมดอกเฉย ๆ จะช่วยเขาหน่อยก็ได้ ตามปกติการผสมเกสรของบัวจะผสมโดยแมลง หรือลมพัดเกสร ถ้าคลุมถุงแล้วแมลงหรือลมเข้าไม่ได้ เราต้องช่วยทำให้เกสรมีการเคลื่อน
ไหวด้วยการนำเกสรไปแตะหรือสั่นไหวเบา ๆ ถ้าเป็นการผสมข้ามพันธุ์ต้องมีพิธีการมากพอสมควร ต้องกำหนดต้นดอกตัวเมียเป็นต้นแม่ ต้นดอกตัวผู้จะเอาต้นไหนต้องปลูกไว้สัก 2 - 3 ต้น ช่วงดอกแม่บานพร้อมจะผสมบังเอิญดอกตัวผู้ไม่บานสักต้นเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นต้องตั้งหลักว่า เราจะเอาอะไรผสมกับอะไร อะไรเป็นพ่อ อะไรเป็นแม่ ที่ต้องปลูกต้นพ่อไว้ 2 - 3 ต้น เผื่อไว้ต้นไหนมีดอกบาน ต้นไหนไม่มีดอกเพราะเวลาดอกแม่บานพร้อมจะผสมก็ดึงเกสรดอกตัวผู้มาผสม ถ้าไม่มีเผื่อไว้จะทำให้พลาดผสมไม่ได้"
อาจารย์ยืนยันว่า วิธีการผสมพันธุ์บัวก็เหมือนกับวิธีการผสมพันธุ์พืชทั่ว ๆ ไป ถ้าเป็นการผสมข้ามพันธุ์ ก่อนอื่นต้องตัดหรือปลิดเกสรตัวผู้ในต้นแม่ออกเพราะบัวเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน จึงต้องเอาเกสรตัวผู้ของต้นแม่ออกก่อนที่อับละอองเกสรจะแตกหรือประมาณ 2 - 3 วันก่อนดอกบานที่สำคัญคือต้องทราบว่าดอกนั้นๆ จะบานเมื่อไร ต้องมีความชำนาญวิธีการตัดเกสรตัวผู้ออก คือเปิดดอกออกใช้กรรไกรหรือคีมที่ใช้สำหรับผสมเกสร ขลิบเอาเกสรตัวผู้ทิ้งไป พอดอกบานก็เอาเกสรตัวผู้ของ ต้นที่ตั้งใจจะให้เป็นต้นพ่อมาใส่ในอับเรณู ของเกสรตัวเมียในต้นแม่
"วิธีของผมทำง่ายๆ ผมเอาเกสรตัวผู้มาทั้งช่อ ทั้งกระจุก มาสุมๆ บนเรณูของเกสรตัวเมีย จากนั้นเปิดดอกแล้วเคาะดอก หรือตัดให้เกสรตัวผู้ร่วงลงมา วิธีนี้ก็มีติดบ้างไม่ติดบ้าง ไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วจะติด เราต้องเสี่ยงนิด ๆ ขณะเดียวกันก็อิงตำราหน่อย ๆ แต่ตำราเมืองนอก กับตำรา บ้านเราไมาเหมือนกัน เมืองนอกบอกว่าเกสรตัวผู้จะสุกก่อนดอกบาน 2 วัน แต่บ้านเราไม่ใช่ บ้านเราปลูกในที่ร้อนบ้างที่เย็นบ้าง การผสมแต่ละครั้งใช่ว่าทีเดียวจะได้" อาจารย์เล่าถึงประสบการณ์ในการผสมพันธุ์บัว   หลังจากดอกบัวกลายเป็นฝักบัว หรือติดเมล็ดแล้วขั้นตอนต่อไปคือการเพาะ วิธีการเพาะอาจารย์ทำง่าย ๆ อีกเหมือนกันคือ เตรียมอ่างใส่ดินในอ่างให้หนา 3 - 4 นิ้ว เกลี่ยดินให้เรียบ ใส่น้ำให้สูงจากดิน 3 - 4 นิ้ว เอาดอกที่ติดเมล็ดมาขยี้ลงไปในอ่าง
อาจารย์ ดร.เสริมลาภ เปรียบเทียบวิธีการของอาจารย์กับธรรมชาติที่เป็นอยู่ว่าธรรมชาตินั้นพอบัวผสมติดดอกบาน จะขึ้นมาบานเหนือน้ำแล้วแตก พอแตกแล้วเจลลาดินหุ้มเมล็ดจะลอยไปตามน้ำจากนั้นจะจมลงเพื่อขยายพันธุ์ วิธีการของาจารย์ก็เหมือนธรรมชาติ เพียงแต่ช่วยให้แตกไวขึ้นโดยการขยี้และแทนที่จะให้ลอยไปตามน้ำก็จำกัดที่ให้อยู่ภายในอ่าง พอเมล็ดจมลงกันอ่าง ก็ช้อนเอากลีบดอกต่างๆ ทิ้งไป รอเวลาให้เมล็ดงอกออกมาเป็นต้น ซึ่งจะมีจำนวนเป็นร้อยต้นเลยทีเดียว ถามถึงวัตถุประสงค์ของการผสมพันธุ์ อาจารย์ตอบว่าต้องการเป็นประสบการณ์และเอาสิ่งที่ได้มามาเป็นตำราสอนหนังสือ
"ผมทำเฉพาะบัวผัน บัวที่ดอกบานกลางวัน บานกลางคืนก็ทำได่แต่ไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่พวกบัวผัน ดอกชูกลางวัน สีสันหลากหลาย มีตั้ง 9 สี บัวฝรั่งมีเพียง 5 สี โอกาสที่จะได้สีต่าง ๆ มีมากกว่า แต่ข้อเสียของบัวผันคือกลับไม่ซ้อน แต่บัวฝรั่งกลับซ้อน 30 - 40 กลีบ เพราะ ฉะนั้น
หลักการในการผสมพันธุ์บัวของชมรมคนรักบัว คือ พยายามผลิตบัวผันให้มีกลีบซ้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้วัตถุประสงค์ในการผสมพันธุ์บัวจะมี 2 ประการคือ ทำในทางวิชาการ เพราะผมสอนหนังสือด้วยจะเลือกเอาพันธุ์ที่แปลกๆ ไว้สอนหนังสือ เช่น ได้บัวสีเหลือง มีเหลืองทองหรือทองสุข ความจริงดอกไม่ค่อยสวยเท่าไร กลีบก็ไม่ซ้อน แต่ผมเอาคาแร็ตเตอร์ เช่น ลักษณะของใบ ถ้าใบเปิดมาก จะมีดอกอย่างเหลืองทอง ถ้าใบเปิดน้อยจะมีดอกอย่างทองสุข เป็นต้น
ประการที่ 2 คือความสวย แต่ถือเป็นเรื่องรองโชคดีได้บัวสายก็จะเก็บไว้ แต่โดยหลักใหญ่จะทำในเชิงวิชาการก่อน เอาลักษณะที่แตกต่างไว้สอนหนังสือ บัวแดง บัวเหลือง บัวม่วง ที่ได้มา ฐานของการทำ คือ เอาไว้สอนหนังสือ อย่างสีม่วงจะมีม่วงต่างๆ มีเฉดสีที่มีเครื่องวัด ผมทำไว้หลายสี วิบูลย์ลักษณ์กับม่วงธรรมนูญ สีเหมือนกัน แต่ม่วงธรรมนูญกลีบยาวกว่าเป็นต้น" อาจารย์อธิบาย

อยากให้บัวเป็นพืชเศรษฐกิจ
ความมุ่งมั่นของอาจารย์ ดร.เสริมลาภ วสุวัต ปรมาจารย์ในเรื่องบัว คือการผลักดันให้ "บัวหลวง" เป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมามีชาวบ้านพยายามจะปลูกบัวหลวงขายแต่ก็ไม่กว้างขวาง ในขณะที่ปัจจุบันมีเมล็โบัวจากประเทศจีนเข้ามาขายในบ้านเราเป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของอาจารย์คือเมล็ดบัวในบ้านเราสู้ของจีนไม่ได้ เพราะเราเก็บมาจากบัวที่เกิดในธรรมชาติ ซึ่งมีแมลงศัตรูพืชทำลายเป็นจำนวนมาก ถ้าเราสามารถนำมาพัฒนาพันธุ์ ปรังปรุงวิธีการเพาะปลูกให้ถูกต้อง ก็จะเป็นอาชีพให้ชาวบ้านได้มีรายได้ "ที่ว่างเปล่าที่สามารถจะปลูกบัวหลวงมีประมาณ 1.7 ล้านไร่ เป็นที่ชุ่มน้ำสามารถหาพันธุ์บัวมาปลูกได้ หน่วยงานของรัฐอาจจะส่งเสริมโดยการแบ่งพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้เป็นแปลงๆ ให้เกษตรกรปลูกบัว เมื่อได้ผลผลิตทั้ง ฝักบัว ทั้งเมล็ดบัวก็เก็บมาขาย ผมจะจัดสัมมนาในเรื่องของพัฒนาบัวหลวงให้เป็นพืชเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2546 ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัตถุประสงค์ของการสัมมนาคือ ไม่มีใครรู้เรื่องบัวจริง ๆ สักคน โดยเฉพาะบัวหลวงรู้จักแต่ในวรรณคดี แต่พันธุ์และการเพาะปลูกไม่รู้   ผมรู้แต่ว่ามีพันธุ์บัวหลวง 4 พันธุ์ที่ทราบก็เพราะอาศัยดูเพื่อนบ้าน อย่างประเทศจีน แต่ก่อนเขาก็เหมือนเรา แต่พอเขาพัฒนาพรวดเดียวมีพันธุ์ 300 พันธุ์ภายใน 10 ปี แต่บ้านเรายังไม่ได้ทำอะไร เวียดนาม ขณะนี้ผลิตเมล็ดบัวส่งมาขายบ้านเราแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึงไหนทั้ง ๆ ที่มีพันธุ์ออกมากมาย แรงงานในครอบครัวเกษตรกรก็มี ทำไมเราไม่ดึงศักยภาพเหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์ ออสเตรเลียก็ทำแล้ว ทั้งๆ ที่มีบัวอยู่น้อยมากในรัฐนิวเซาท์เวลล์ ประเทศในยุโรป ในฮาวาย เขาหยุดทำเรื่องบัว เพราะเขาปลูกบัวเอาเหง้า หรือรากบัว ค่าแรงเขาแพง ไม่มีแรงงานขุด ฮาวายต้องเลิกไป ญี่ปุ่นเลิกไป ออสเตรเลียกำลังจะพัฒนา แต่ก็รีๆ รอ ๆ เพราะค่าแรงแพงคัดเอาแรงงานชนพื้นเมืองมาทำ ไม่ทราบจะสำเร็จหรือไม่ ส่วนเมืองจีนค่าแรงถูกแต่ฤดูกาลไม่อำนวย เขาปลูกบัวได้เพียง 3 เดือน เก็บรากขายเจาทำได้เพราะแรงงานถูก รากบัวเขามีคุณภาพดีกว่าของเรา ต่าง ๆ เหล่านี้คือปัญหาที่แต่ละประเทศเผชิญอยู่ในการพัฒนาบัวให้เป็นพืชเศรษฐกิจ หันกลับมาดูบ้านเราทำให้มองเห็นช่องทางในการพัฒนาบัวของเราคือ ถ้าเราพัฒนาพันธุ์บัวของเราได้เอง คัดเลือกพันธุ์ ปลูกได้ทั้งน้ำตื้น น้ำกลางน้ำลึกซึ่งเรามีทั้งนั้น เรายังไม่ได้ทำเลย เราสามารถปลูกบัวเก็บเมล็ดได้ ตลอดปีสู้จีนได้ เราสามารถหาพันธุ์บัวที่ออกรากที่อาจจะปลูกทางเหนือ ค่าแรงสู่กับออสเตรเลีย ญี่ปุ่นได้ แต่สู้จีนไม่ได้ เรามีพื้นที่จะพัฒนาขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ได้แรงงานที่จะทำเมล็ดบัวก็มีไม่ยากเลยเพียงแต่ชาวบ้านเมื่อมีแรงงาน เหลือว่างจากไร่นาถึงเวลาสายหน่อยก็พายเรือออกไปเก็บฝักบัวตัดมาใส่กระด้งผึ่งไว้หรือแกะฝักเก็บเมล็ดผึ่งใส่กระด้งเลย ตากบนลานบ้านนั่นแหละ 1 - 2 วันก็ใช้ได้ หรือถ้าหากว่าจะเก็บเมล็ด ให้มูลค่าเพิ่มขึ้นมาก็คือเก็บฝักที่ยังนิ่ม แกะเปลือกออกเอาเมล็ดขาว ๆ แกะออก ผึ่งแดด แกะเอาดี หรือเอ็มไบรไอ ออกก็เก็บไว้ขายได้เป็นแรงงานในครอบครัวทั้งนั้น ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของสังคมไทยซึ่งออสเตรเลียไม่มี "นั่นคือมุมมองและความฝันของ ดร.เสริมลาภ วสุวัต ที่ปรารถนาจะเห็นบัวหลวงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย

บัวในแง่มุมของสมุนไพร
อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าวและมีผู้จีดรายการวิทยุนำไปอ่านออกอากาศทำนองว่า "บัว" มีสรรพคุณเทียบเท่ายา "ไวอะกร้า" ที่ขึ้นชื่อของต่างประเทศ ขึ้นชื่อในทางไหนคุณสุภาพบุรุษคงทราบดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ ดร.เสริมลาภ เล่าว่า "ข่าวมาจากผมนี้แหละ ผลไปบรรยาย ผมได้คุยกับองค์การเภสัชกรรมมาก่อนหน้านี้ว่า มีตำรายาไทยบอกว่า ดีบัว มีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือด ช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง ยาไวอะกร้าที่สามารถทำให้ผู้ชายมีฤทธิ์มีเดชได้ หลักก็คือไปช่วยขยายหลอดเลือด คือให้เลือดเดินสะดวกดีบัวก็ขยายหลอดเลือด ทำไมไม่ลองดึงเอาของดีมาพัฒนาเป็นยา เป็นยาอย่างไวอะกร้าได้ยิ่งดี จะได้มีสตางค์ ผมพูดเล่นแค่นั้นแหละ แต่เพื่อน (หมายถึงหนังสือพิมพ์) เอาไปลงว่าดีบัวไปทำยาไวอะกร้าได้ โอ้โหย... วันรุ่งขึ้นหมอเพ็ญนภารับเขียนค้านทันที ผมก็เลยทำบันทึกถึงหมอเพ็ญนภาว่า ผมพูดอย่างนี้ หมายความว่า ถ้าสามารถเอามาพัฒนาได้ก็อาจเป็นยาที่สู้กับไวอะกร้าได้" อาจารย์เล่าไปหัวเราะไป
อาจารย์ ดร.เสริมลาภ แสดงความเป็นห่วงว่าเรารู้จักว่าบัวมีสรรพคุณในทางสมุนไพร แต่ไม่มีใครที่จะพัฒนาในด้านนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น ดีบัว (ส่วนที่เป็น embryo เขียวๆ อยู่ในเมล็ดบัว) นำมาแก้โรคความดันโลหิตสูง เกสรบัวสามารถไปทำยาหอมได้ หรือเป็นส่วนผสมในการอัดพระเครื่อง กลีบบีว เกสรบัว ตากแห้งนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นน้ำชา นอกจากดีบัวแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของบัว โดยเฉพาะบัวหลวง ยังสามารถนำมาบริโภคในลักษณะของสมุนไพรได้อีกหลายส่วน ได้แก่
เมล็ดบัว   ช่วยบำรุงกำลัง แก้กษัย ท้องร่วง สมานแผล แก้ร้อนใน เจริญอาหาร แก้พุพอง
ฝักบัว   ช่วยขับลม สมานแผล แก้มดลูกพิการ แก้ท้องเสีย และแก้พิษเบื่อเมา
ก้านบัว   รักษาโรคลมออกหู และแก้ท้องเดิน
เหง้าบัว   แก้ท้องเสีย แก้พิษ ฝี ปวดบวม รักษาแผลไฟลวก ช่วยขับปัสสาวะ
ใบบัว   บำรุงร่างกาย แก้ไข ห้ามเลือด แก้ปวดฝี ปวดศีรษะ
ดอกบัว   แก้ท้องเสีย คล่นไส้ อาเจียน แก้ไข้ บำรุงกำลัง แก้จุกเสียด บางตำราว่า ช่วยให้คลอดบัตรง่าย
เกสรตัวผู้   รักษาอาการเกี่ยวกับเลือดลมบำรุงกำลัง แก้ไข้ ขับเสมหะ ช่วยในการขับถ่าย แก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ บำรุงตับ
ข้อมูลทางสมุนไพรของบัวเหล่านี้มีรายละเอียดให้ท่านค้นหาได้ที่ ศูนย์ข้อมูลทางสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

0 ความคิดเห็น: