ใช้วัชพืชเพาะเห็ด ผลงานศูนย์วิจัยเชียงราย

mush01

เห็ด ในบ้านเรามีมากมายหลายชนิด เช่น เห็ดโคน เห็ดฟาง เห็ดขอนขาว เห็ดสกุลนางรม เห็ดหูหนู เห็ดกระดุม เห็ดป่า

เห็ด เป็นอาหารที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เนื่องจากมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รสชาติดี มีวิตามินสูง การได้มาซึ่งเห็ดนั้นมีทั้งเห็ดที่เกิดจากธรรมชาติ จากการเพาะในแปลงใช้วัสดุคลุม การเพาะในเรือนโรง ปัจจุบันนิยมการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก เพราะใช้เวลาสั้น ลงทุนต่ำ ได้เงินเร็ว อย่างไรก็ตาม การเพาะในถุงพลาสติกนั้น จำเป็นต้องใช้วัสดุเพาะ ได้แก่ ขี้เลื่อย ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้ฉำฉา ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ยางพารา ซึ่งจะต้องสั่งซื้อและขนย้ายมาจากจังหวัดทางภาคใต้ เพื่อเป็นการศึกษาหาวัสดุเพาะเห็ดที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาถูก ลดต้นทุน อีกทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จึงได้นำวัชพืชมาเป็นวัสดุเพาะเห็ด จนประสบความสำเร็จและขยายผลไปสู่เกษตรกร

นายบัณฑิต จันทร์งาม ผู้อำนวยการศูนย์กล่าวว่า การนำวัชพืชบางชนิดเพื่อเป็นวัสดุเพาะเห็ดนั้น เป็นผลงานของ คุณนันทินี ศรีจุมปา นักวิชาการเกษตรที่มีความชำนาญเรื่องการเพาะเห็ด และคุณเสกสรร สีหวงษ์ ผู้ชำนาญการจากศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อหาวัสดุอื่นมาทดแทนขี้เลื่อย อีกทั้งบ้านเรามีวัชพืชขึ้นอยู่มากมาย อยู่ข้างถนน หรือพื้นที่รกร้างทั่วไป ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยศึกษาการใช้หญ้าเพาะเห็ดมานานกว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจากขาดแคลนวัสดุเพาะเห็ด จนปัจจุบันเทคนิคการใช้หญ้าเพื่อเพาะเห็ดเป็นที่ยอมรับและนิยมปฏิบัติกันแพร่หลาย มีหญ้าอย่างน้อย 29 ชนิด ที่ใช้เพาะเห็ดได้ดี หาได้ง่าย มีความสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์สูง

คุณนันทินี ศรีจุมปา ให้รายละเอียดว่า จังหวัดเชียงรายมีวัชพืชขึ้นอยู่ทั่วไป จึงนำวัชพืชที่ศึกษาและประสบผลสำเร็จโดยใช้หญ้าแขม หญ้าเลา และหญ้าก๋งหรือหญ้ายูงที่ชาวบ้านใช้ดอกหญ้าทำไม้กวาด เพราะหญ้าทั้ง 3 ชนิดนี้มีลำต้นใหญ่ และเป็นวัชพืชที่ขึ้นทั่วไป ขั้นตอนการนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดนั้น เริ่มจากเก็บวัชพืชมาตากให้แห้งสนิท จากนั้นนำไปย่อยด้วยเครื่องสับย่อยวัชพืชที่ดัดแปลงมาจากเครื่องหั่นต้นข้าวโพด ให้มีขนาดประมาณ 2 หุน ผสมกับรำละเอียด 6% ยิปซัม 0.5% ดีเกลือ 0.2% โดยน้ำหนัก เติมน้ำเพื่อให้มีความชื้นประมาณ 60% หมักไว้ประมาณ 2 วัน เพื่อให้วัชพืชอ่อนตัวและชุ่มชื้น เมื่อบรรจุถุงจะไม่ทิ่มแทงถุงขาด จากนั้นจึงนำบรรจุวัสดุเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อนแบบพับข้าง หญ้าเลาบรรจุถุงละ 500 กรัม หญ้าแขม และหญ้าก๋ง บรรจุถุงละ 600 กรัม นำก้อนอาหารทั้งหมดไปนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยไอน้ำ อุณหภูมิประมาณ 95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง นำออกมาวางไว้ให้เย็นแล้วจึงนำเชื้อเห็ดที่เจริญในเมล็ดข้าวฟ่างใส่ลงไป นำไปบ่มในโรงบ่ม ปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเห็ดเดินเต็มถุง จึงนำไปเปิดถุงในเรือนโรง รดน้ำให้มีความชื้นภายในเรือนโรง ประมาณ 85-90% รอจนกระทั่งเห็ดเจริญเติบโตจากปากถุงพลาสติก จึงเริ่มเก็บไปรับประทานหรือจำหน่าย

การใช้วัชพืชเป็นวัสดุเพาะนี้ สามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 4 เดือน เห็ดที่ทดลองกับวัชพืชทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดขอนขาว เห็ดหอม เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพของตนเองได้

0 ความคิดเห็น: