บัวบก เป็นชื่อที่เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ และประกอบกับประโยคที่มีการพูดอยู่เสมอว่าดื่มน้ำใบบัวบกจะช่วยแก้อาการอกหักได้ แก้ช้ำในได้ ทำให้ชุ่มคอ ชื่นใจ ในทุกยุคทุกสมัยน้ำใบบัวบกจึงมีให้หาดื่มได้ไม่ยากนัก เช่น ในสมัยก่อนน้ำใบบัวบกจะมีวางขายในบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ หรือไม่ก็วางบนรถเข็นเร่ขายตามตลาดทั่วไปในราคาแก้วละไม่กี่สตางค์ แต่ปัจจุบันนี้มีพ่อค้าแม่ค้าหรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรนำใบบัวบกมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรส่งวางขายตามห้างสรรพสินค้า ทั้งเล็กทั้งใหญ่เพื่อให้บริการกับทุก ๆ ท่านได้มากขึ้น
นอกจากการแปรรูปเป็นน้ำใบบัวบกเครื่องดื่มสมุนไพรแล้ว ใบและเถาบัวบกยังได้นำไปเป็นพืชผักในครัวเรือน ตามร้านอาหารหรือสวนอาหาร มีการนำไปจัดเป็นผักสดรวมกับผักอื่น ๆ ให้เป็นผักเครื่องเคียงรับประทานกับแกงเหลืองอาหารรสแซบแบบปักษ์ใต้ รับประทานกับลาบ น้ำตก น้ำพริก ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน หรือเป็นเครื่องเคียงรับประทานกับแนมเนืองอาหารแบบชาวเวียดนาม ซึ่งไม่ว่าจะนำใบและเถาบัวบกมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร หรือนำมาเป็นผักสดรับประทานกับกับข้าวหรือแบบอื่นใดก็ตามต่างช่วยชูรสให้การรับประทานอาหารมื้อนั้นอร่อยเพิ่มขึ้นนอกจากนี้การรับประทานผักอย่างสม่ำเสมอยังได้ช่วยในระบบการย่อยอาหารและให้คุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ณ เวลานี้การปลูกบัวบกจึงเป็นพืชผักที่เลือกเป็นอาชีพเพื่อการผลิตให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีอีกพืชหนึ่ง
บัวบกผัก พื้นบ้านที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นอีกพืชหนึ่งที่ขณะนี้ยังมีพื้นที่การปลูกไม่มากนัก ในบางท้องถิ่นที่มีการปลูกบัวบกก็ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดให้มีการปลูกเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นในการเสริมสร้างรายได้ แต่ก็มีเกษตรกรบางรายได้นำไปปลูกเป็นอาชีพหลักก็มี โดยทั่วไปแล้วบัวบกเป็นพืชปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจปลูกบัวบกเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมเพื่อเสริมสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้มีความมั่นคง
เทคนิคและวิธีการปลูกบัวบก คุณไพศาล พวงแย้ม เกษตรกรผู้หนึ่งที่ปลูกบัวบก อยู่ที่ตำบล แพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นประกอบอาชีพการทำนา 30 ไร่เป็นหลักเพียงกิจกรรมเดียว มีครั้งหนึ่งจากหลายครั้งที่เดินทางไปติดต่อซื้อขายสินค้าเกษตรในเขตจังหวัดนครปฐม ทำให้ได้พบเพื่อนเกษตรกรคนหนึ่งที่นำบัวบกมาขายจึงได้คุยกันและทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการปลูกบัวบกขึ้นมา เมื่อกลับมาถึงบ้านในระยะแรกยังไม่ได้คิดไม่ได้สนใจที่จะปลูกหรือนำวิธีการปลูกบัวบกมาเป็นอาชีพแต่อย่างใด เมื่อเวลาผ่านไป 5 - 6 ปี ทุกครั้งที่เดินทางไปค้าขายสินค้าเกษตรที่จังหวัดนครปฐมได้สังเกตุเห็นว่าการค้าขายบัวบกของเพื่อนเกษตรกรในตลาดที่จังหวัดนครปฐม
เป็นไปได้ด้วยดี เมื่อกลับมาจึงได้ปรึกษากันในครอบครัวและได้ตัดสินใจด้วยกันว่าต้องนำการปลูกมาเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา เริ่มแรกได้ตัดสินใจปรับพื้นที่นา 2 งานทำการปลูกบัวบกและปลูกเรื่อยมากระทั่งเพิ่มมาเป็น 4 ไร่ในปัจจุบันนี้และนับถึงเวลานี้ก็ปลูกบัวบกมาปีกว่าแล้ว
บัวบก เป็นไม้เลื้อยสูงจากพื้นดิน 15 - 20 เซนติเมตร รากงอกออกตามข้อของลำต้น ส่วนทางด้านบนของข้อจะเป็นส่วนที่แตกยอดหรือใบอ่อนด้วย เป็นใบเดี่ยวออกเป็นกระจุก 2 - 6 ใบ ดอกสีม่วงแดงเข้ม ส่วนที่นำมารับประทาน คือ ใบ และเถา มีรสชาติอร่อยเช่นเดียวกับพืชผักชนิดอื่น ๆ
การปลูกบัวบกครั้งแรกได้ปลูกด้วยเมล็ด โดยได้แบ่งซื้อเมล็ดพันธุ์บัวบกจากเพื่อนเกษตรกรที่จังหวัดนครปฐม โดยนำมาเพาะในกระบะ ก่อนเมื่อต้นกล้าแข็งแรงหรือมีอายุ 15 - 25 วัน จากนั้นจะย้ายกล้าลงปลูกในแปลง ทำการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ พร้อมกับเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของบัวบกไปด้วย หลังจากเก็บเกี่ยวบัวบกไปขายหมดแล้วต่อมาได้พัฒนาการปลูกบัวบกจากการปลูกด้วยเมล็ดไปเป็นการปลูกโดยใช้ไหลหรือลำต้นทำให้เก็บผลผลิตได้ไวกว่าการปลูกด้วยเมล็ด
การเลือกพื้นที่ปลูกบัวบก พื้นที่ที่ปลูกบัวบกต้องเป็นพื้นที่ดอนไม่มีน้ำขังหรือควบคุมน้ำได้ดี พื้นที่ปลูกที่นี่เป็นดินนาค่อนข้างเหนียวการเตรียมดินได้ทำการไถพรวนดินในพื้นที่นาให้ร่วนซุยเช่นเดียวกันกับการปลูกพืชผักทั่ว ๆ ไปแล้วตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 10 วันก่อนปลูกจะช่วยป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินได้ระดับหนึ่งหรือหมดไป จากนั้นยกร่องเป็นแปลงปลูกกว้าง 4 เมตร ส่วนทางด้านความยาวของแปลงปลูกได้ปล่อยไปตามขนาดความยาวของพื้นที่ ระหว่างแปลงปลูกจัดเป็นร่องน้ำหรือทางเดินกว้าง 50 เซนติเมตร และลึก 15 เซนติเมตร สำหรับระยะปลูกหรือปักชำที่เหมาะสมคือจัดให้หลุมปลูกห่างกันด้านละ 15 x 15 เซนติเมตร เมื่อทำการปลูกหรือปักชำแล้วรดน้ำพอชุ่ม หลังจากปลูกหรือปักชำ 7 วันไหลหรือลำต้นบัวบกจะเจริญเติบโตแตกยอดออกมาใหม่ 1 - 2 ยอด เมื่อบัวบกเจริญเติบโตเต็มที่ตามความเหมะสมไหลหรือลำต้นจะแผ่กระจายออกเต็มพื้นที่แปลงปลูก พร้อมที่จะให้ผลผลิต
การใส่ปุ๋ย ตลอดฤดูการปลูกบัวบกได้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่ปุ๋ยหลังจากปลูก 15 - 20 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือบางครั้งจะใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 อัตรา 3 - 4 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่สองจะห่างจากการใส่ครั้งแรก 15 - 20 วันโดยเปลี่ยนเป็นใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ ทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วจะต้องรดน้ำให้ชุ่ม สำหรับอัตราการใส่ปุ๋ยทุกครั้งจะดูการเจริญเติบโต ความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสมบูรณ์ของต้นบัวบกด้วย จึงจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ศัตรูของบัวบก ที่พบได้แก่หนอนคืบที่มากัดกินใบ เป็นศัตรูบัวบกชนิดหนึ่ง ถ้าหนอนชนิดนี้ระบาดมากมันจะกัดกินใบจนเหลือแต่ก้าน หรืออาจทำความเสียหายได้ทั่วทั้งแปลง จากการที่เคยสังเกตุได้พบว่าตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนเมื่อกะดูโดยสายตามันจะมีขนาดเล็ก ปีกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายปีกหน้าและปีกหลังมีสีน้ำตาลอมสีเทา ลำตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนหัวเป็นสีน้ำตาล
ลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน นอกจากหนอนชนิดนี้แล้วยังไม่เคยพบศัตรูบัวบกชนิดอื่นอีกเลย
การป้องกันกำจัดหนอนที่มากัดกินใบ ถ้าพบจำนวนไม่มากจะเก็บตัวมันออกไปทำลายทิ้งหรือหากพบว่ามีจำนวนมากต้องใช้สารเคมีกำจัด ต่อมาได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ให้นำเมล็ดลางสาดจำนวน 1.5 กิโลกรัมมาบด นำไปผสมกับน้ำ 1 ปี๊บหมักทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่เฉพาะน้ำไปฉีดพ่นให้ทั่วแปลง หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้สลับกันคือ นำต้นมะเขือเทศมาหั่นให้ละเอียดอัตราส่วน 2 กำมือไปใส่ในน้ำร้อนจำนวน 2 ลิตรหมักทิ้งไว้ประมาณ 5 ชั่วโมงแล้วกรองเอาแต่เฉพาะส่วนน้ำไปฉีดพ่นให้ทั่วแปลงจะป้องกันไม่ให้หนอนคืบมากัดกินใบบัวบกได้ ทั้ง 2 วิธีมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้รับประทานและประหยัดต้นทุนการผลิตด้วย
การให้น้ำ น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นในการให้น้ำบัวบกจะต้องพอเหมาะพอดี สำหรับที่นี่ได้จัดระบบการให้น้ำบัวบกเป็นแบบมินิสปริงเกลอใช้ต้นทุนในการจัดหาอุปกรณ์ครบชุด 30,000 - 40,000 บาท จากนั้นจัดวางท่อเอสล่อนที่ติดหัวสปริงเกลอลงบนกลางแปลงปลูกหลังจากที่ทำการปลูกบัวบกเสร็จแล้วให้มีระยะห่างกัน 4x6 เมตร การให้น้ำบัวบกทุกวันเช้า - เย็น นานครั้งละ 2 ชั่วโมงจะเพียงพอต่อการเติบโตของบัวบกได้ดีจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำ 350 บาทต่อเดือน
การเก็บเกี่ยวบัวบก คุณไพศาล พวงแย้ม เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า เมื่อมีการดูแลรักษาดี หลังจากปลูกประมาณ 60 - 90 วันก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวใบและเถาได้ โดยวิธีการเก็บได้ใช้เสียมเหล็กขนาดเล็กขุดเซาะบริเวณใต้รากแล้วดึงเอาต้นเถาบัวบกออกมาล้างน้ำ ทำความสะอาดเก็บใบเหลืองเศษวัชพืชอื่น ๆ ออกจากนั้นใช้มีดบางตัดบริเวณโคนต้นให้ได้ความยาวประมาณ 1 คืบนับจากปลายใบลงมา นำใบบัวบกจัดเป็นกำ ๆ ละ 1 ขีด นำไปบรรจุถุงพลาสติกถุงละ 50 กำหรือ 5 กิโลกรัม จัดขึ้นรถยนต์นำไปขายส่งให้กับพ่อค้าส่งที่ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี อีกตลาดค้าส่งอีกแห่งหนึ่งคือที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนครปฐม ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงที่บัวบกออกสู่ตลาดน้อยจะขายได้ราคาดีคือ 150 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม บัวบกจะออกสู่ตลาดจำนวนมากจะขายในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าวางแผนการปลูกให้ดีจะสามารถเก็บบัวบกได้ตลอดปี ทุกวันนี้เมื่อนำบัวบกออกขายได้เงินเท่าใดแล้วจะหักต้นทุนการผลิตออก ซึ่งแต่ละครั้งจะมีรายได้ 500 บาทขึ้นไป
คุณดารณี ทองใบ นักวิชาการเกษตร กลุ่มพืชผัก กรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า บัวบกเป็นพืชล้มลุกในเขตร้อน เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ในบางพื้นที่ พบมีขึ้นได้ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มและชื้นแฉะ การเจริญเติบโตของบัวบกจะเลื้อยไปตามพื้นดิน ใบและรากแตกออกตามข้อของลำต้น ใบมีรูปร่างกลม ขอบใบหยัก ผิวใบด้านบนเรียบส่วนด้านล่างมีขนสั้น ดอกออกเป็นช่อตามบริเวณข้อรูปร่างคล้ายร่มแต่ละช่อมี 3 - 4 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบสีม่วงอมแดง หลังจากปลูก 60 - 90 วันจะเริ่มเก็บเกี่ยวใบและเถาไปรับประทานหรือขายได้
ใบและเถาบัวบกเป็นพืชผักที่คนไทยนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย มีประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ใบและเถาบัวบกมีกลิ่นหอม รสชาติมันอมขมเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ และอื่นๆ บัวบกยังเป็นพืชอีกทางเลือกหนึ่งที่มีการนำไปปรุงเป็นเครื่องสำอางและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ได้มากขึ้น
คุณอรสา ดิสถาพร หัวหน้ากลุ่มพืชผัก กรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า การส่งเสริมปลูกบัวบกนั้นคงต้องยอมรับกันว่าตลาดยังไม่เปิดกว้างมากนักเป็นพืชผักพื้นบ้านที่สำคัญทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้ดีพืชหนึ่ง แนวทางที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดแต่ละจังหวัดส่งเสริมให้เกษตรกรมีการอนุรักษ์บัวบกหรือพืชผักอื่นๆ ให้พืชผักพื้นบ้านที่สำคัญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น หรือชุมชนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทั้งในรูปแบบที่เป็นพืชเสริมรายได้กับพืชอื่นเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านการผลิตและที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ปลูกมีอาหารรับประทานในครัวเรือน นำไปขายเป็นการเสริมสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวเกษตรกร จากเรื่องราวของการปลูกบัวบกที่นำเสนอมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ยังมีอีกมาก สำหรับในแง่มุมการได้ประโยชน์
จากบัวบกนั้นได้นำข้อมูลจากผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย เอกสารของสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข 2540 : 147 มาเล่าสู่กันดังนี้ รสและประโยชน์ต่อสุขภาพของบัวบกจะมี รสมันอมขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ช่วยระบายความร้อน บำรุงกำลัง ใบบัวบก 100 กรัมให้พลังงานต่อร่างกาย 44 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใย 2.6 กรัม แคลเซียม 146 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 3.9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 10962 ไอยู (IU) วิตามินบีหนึ่ง 0.24 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอาซีน 0.8 มิลลิกรัม และวิตามินซี 4 มิลลิกรัม ผู้เขียนขอบคุณคุณชัด ขำเอี่ยม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ที่ได้นำชมการปลูกบัวบก พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นของจังหวัดชัยนาท เป็นการนำสิ่งที่ เป็นภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายออกมาเผยแพร่สู่ท่านผู้อ่าน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ในการนำไปประกอบเป็นอาชีพได้บ้าง ปัจจุบันบัวบกนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้านเช่น นำไปเป็นผักสดรับประทานกับน้ำพริก แกงเหลือง ลาบ น้ำตก ผัดไทย และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรส่งวางขายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งได้ก่อให้เกิดรายได้ต่อเกษตรกรทั้งสิ้น ถ้าหากเกษตรกรท่านใดสนใจหรือยังมีที่ดินว่างๆ มีแรงงานมีเงินทุน มีความสามารถในการจัดการที่ดี และคิดที่จะให้มีงานทำโดยการปลูกบัวบกเพื่อให้เป็นพืชอีกทางเลือกใหม่ในการเสริมสร้างรายได้ที่นำไปสู่การพัฒนาความมั่นคงให้กับครอบครัวก็แวะไปชมวิธีการปลูกได้ที่สวนบัวบกของคุณไพศาล พวงแย้ม 17/1 หมู่ 1 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โทร. 056 - 437336, 0 - 6203 - 9874 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลแพรกศรีราชา สำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 056 -481442 ก็ได้ครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น