มะนาว นอกฤดูในบริเวณบ้าน

 

le01

มะนาวเป็นพืชที่มีความสำคัญสำหรับคนไทย มีการนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน โดยการนำมาเป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหารหรือ นำมาแปรรูปเป็นน้ำมะนาวพร้อมดื่ม และในปัจจุบันนี้ก็นิยมนำมารับประทาน หรือเป็นส่วนผสมของเครื่องบำรุงผิวพรรณ เพื่อความสวยงามของ คุณสุภาพสตรี มะนาวจะให้ผลผลิตประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม มะนาวในช่วงระยะเวลานี้จะมีราคาถูกเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน มาก แต่ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน มะนาวจะมีราคาแพงมาก เนื่องจากมีผลผลิตน้อยด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรต้องการ ผลิตมะนาวนอกฤดูกันมากขึ้น เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูนั้นทำได้หายวิธี เช่น การใช้สารเคมี การใช้วิธีรมควัน เป็นต้น แล้วแต่ผู้ปฏิบัติ ว่าจะทำด้วยวิธีใด ซึ่งการผลิตมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ในบริเวณบ้านก็เป็นวิธีการผลิตมะนาวนอกฤดูวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ
ผู้เขียนได้อ่านบทความเกี่ยวกับการผลิตมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์จากหลาย ๆ แห่ง พบว่าส่วนใหญ่จะกล่าวถึงคุณนรินทร์ พูลเพิ่ม นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ว่าเป็นผู้ที่ค้นพบวิธีการผลิตมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ ซึ่งจากการศึกษา จากหนังสือและเอกสารต่างๆ ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้จึงได้ทดลองนำมาปฏิบัติจริงในบริเวณบ้าน โดยลงทุนซื้อบ่อซีเมนต์ขนาด 80 เซนติเมตร และแผ่นรองวงบ่อขนาดเดียวกันคิดเป็นเงินประมาณ 130 บาท/ชุด (ซื้อมาจำนวน 3 ชุด) โดยนำวงบ่อมาวางให้พอดีกับแผ่นรองวง บ่ออย่าเชื่อมติดกันต้องให้น้ำไหลผ่านออกได้สะดวก วางไว้ในบริเวณที่ว่างและสามารถรับแสงได้ ได้เตรียมดินโดยการผสมดินเหนียว ปุ๋ยคอก แกลบดิบ ในอัตราส่วน 2 : 1 : 1 แต่ส่วนใหญ่ในเอกสารที่แนะนำจะให้ใส่ ดินร่วน : ปุ๋ยหมัก 3 : 2 หรือดินร่วน : ปุ๋ยคอก 3 : 1 หรือดินเหนียว : ปุ๋ยหมัก : ขี้เถ้าแกลบดำ 3: 2 : 1 ใส่ดินที่ผสมแล้วลงในวงบ่อให้เต็มวงบ่อ แล้วพูนดินปลูกขึ้นอีกเล็กน้อย แล้วขุดหลุมเล็ก ๆ ตรงกลางวงบ่อซี เมนต์ นำกิ่งพันธุ์มะนาวลงปลูก กลบดิน ทำหลักไม้ไผ่ผูกกับต้นมะนาวเพื่อป้องกันการโยกของต้น ใช้เศษหญ้าคลุมหน้าดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม โดยเริ่มปลูกมะนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 ใช้มะนาวพันธุ์แป้นและพันธุ์ไข่ ในระยะแรกจะรดน้ำให้ต้นมะนาวทุกวัน ประมาณ 1 อาทิตย์ และหลังจากนั้นจึงให้น้ำเว้นวัน และต่อมาก็จะรดน้ำโดยดูจากลักษณะของดินว่ายังมีความชื้นอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีความชื้นก็จะรดน้ำทันที มะนาวมี การเจริญเติบโตดี แต่จะมีปัญหาเรื่องหนอนกัดกิน ใบอ่อน หนอนชอนใบ ซึ่งทำการกำจัดโดยการทำลายหนอน ด้วยการบี้ด้วยมือ เนื่องจาก ปลูกมะนาวเพียง 3 ต้นเท่านั้นจึงมีแรงงานพอที่ป้องกันด้วยวิธีนี้ได้ และยังพบปัญหาเกี่ยวกับโรคแคงเกอร์เนื่องจากมะนาวทั้ง 2 พันธุ์ที่ปลูกนี้จะ อ่อนแอต่อโรคดังกล่าว จึงใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและเผาทำลายทิ้งไป
เมื่อมะนาวเจริญเติบโตได้ประมาณ 2 เดือนใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 50 กรัม/ตัน โดยหว่านบริเวณรอบ ๆ โคนต้นแล้วรดน้ำ ตาม ควรใส่ปุ๋ยเคมีทุก 1 - 2 เดือน) ในเดือนมกราคม มะนาวจะเริ่มมีการออกดอก จึงต้องเด็ดดอกทิ้งไป ทั้งนี้เนื่องจากมะนาวยังมีอายุน้อยและ มีวัตถุประสงค์ว่าจะให้มะนาวออกดอกเพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มะนาวในตลาดมีปริมาณน้อย (การปลูกมะนาวใน วงบ่อซีเมนต์ ควรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉพาะช่วงนอกฤดูเท่านั้น ไม่ควรปล่อยให้มะนาวออกดอกติดผลอยู่บนต้นตลอดปี จะทำให้มะนาวทรุดโทรม เร็วกว่าปกติ) ต่อมาในเดือนมีนาคม พบว่ามะนาวเริ่มออกดอกอีกครั้ง ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นจึงต้องใช้วิธีการเด็ดดอกทิ้งเช่นเดิมเนื่อง จากมะนาวที่ปลูกมีจำนวนน้อย จึงมีแรงงานและเวลาเพียงพอที่จะเด็ดดอกทิ้ง และจากการอ่านเอกสารแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการทำให้ดอกมะนาว ร่วง ผู้เขียนเคยอ่าน ในวารสารสาระไม้ผล ซึ่งอาจารย์รวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กล่าวไว้เกี่ยว กับการปลิดดอกและผลอ่อนมะนาวเพื่อให้ได้ผลผลิตนอกฤดูนั้น มีความจะเป็นที่ต้องกำจัดดอก และผลอ่อนที่ไม่ต้องการในฤดูกาลทิ้งออกไปก่อน การตัดแต่งกิ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดดอกและผลอ่อนออกไปได้บางส่วน แล้วยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดอ่อนใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ อีกด้วย ภายหลังจากตัดแต่งแล้วดอกและผลอ่อนที่เหลือก็สามารถใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตหรือฮอร์โมนมาช่วยได้สารเหล่านี้เท่าที่มีรายงาน ผลการทดลองใช้นั้นมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ NAA เข้มข้น 2,000 ppm. สามารถปลิดผลอ่อนในระยะกลีบดอกโรยและระยะที่ผลมีอายุ 2 - 3 สัปดาห์ได้ดีกว่าในระยะที่เป็นตาดอกและระยะดอกบาน อย่างไรก็ตามการใช้ NAA ในความเข้มข้นระดับนี้ไม่สามารถกำจัดดอกและผลอ่อนให้ หมดไปได้ตามต้องการ การใช้ความเข้มข้มที่สูงมากกว่านี้อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษกับต้นมะนาวได้ สารควบคุมการเจริญเติบโตอีกชนิดหนึ่งที่ ใช้ในการปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาวคือ เอทธีฟอน (ethephon) ในระดับเข้มข้น 300 ppm. สามารถกำจัดดอกและผลอ่อนได้อย่างดีมาก ซึ่ง ประสิทธิภาพของการปลิดทั้งดอกและผลอ่อนมีถึงกว่า 90% ระยะที่สามารถปลิดได้ผลดีที่สุดหรือปลิดได่อย่างสมบูรณ์ (100%) คือ ระยะดอกบาน ส่วนผลอ่อนที่มีอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไปหรือผลที่มีขนาดใหญ่ แล้วไม่สามารถปลิดได้ การใช้ความเข้มข้นสูง 400 ppm. สามารถปลิดดอกและ ผลอ่อนได้ 100% แต่ผลข้างเคียงของเอทธีฟอนนี้ก็มีอยู่ค่อนข้างมาก โดยมีผลทำให้ใบร่วงและเกิดอาการยางไหลได้ ใบที่มีผลกระทบต่อการใช้ สารนี้มากที่สุดคือใบที่มีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ เช่น ใบที่มีโรคแคงเกอร์และหนอนชอนใบเข้าทำลายมักมีการร่วงหล่นในระดับสูงมาก อย่างไรก็ ตามการใช้สารนี้หากใช้ในระยะที่มีแดดจัดอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นระดับที่สมควรใช้จึงควรอยู่ที่ 300 ppm. เท่านั้น สำหรับผลที่ยัง ปลิดดอกไม่หมดนั้นสามารถใช้ปลิดด้วยมือได้อย่างไม่ลำบากภายหลังการปลิดด้วยสารเคมีแล้ว ทั้งนี้เพราะจำนวนผลที่เหลือติดอยู่นั้นมีน้อยมาก แต่ผู้เขียนยังไม่ได้ทดลองใช้สารเคมีทั้งสองชนิดปฏิบัติเนื่องจากว่ายังมีแรงงานและเวลาพอที่จะใช้วิธีเด็ดดอกทั้งไป คาดว่าในฤดูกาลหน้าถ้าพบ ปัญหาการออกดอกของมะนาวในระยะเวลาที่ไม่ต้องการ คงจะได้ใช้วิธีดังกล่าวเนื่องจากมะนาวคงจะมีการออกดอกเพิ่มมากขึ้นต้องใช้เวลาในการ เด็ดทิ้งนาน และบางครั้งอาจจะไม่ทั่วถึง จะทำให้มีการติดผลในเวลาที่ไม่ต้องการ

ในเรื่องของการตัดแต่งกิ่ง จะทำการตัดแต่งกิ่งเมื่อ เห็นว่ามีกิ่งที่เป็นโรคกิ่งผุ กิ่งที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เช่น กิ่งไขว้กัน กิ่งที่อยู่ ชิดดินมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งการตัดแต่งกิ่งก็เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นการกำจัดดอกและผลที่ไม่ต้องการทิ้งไป เพื่อให้ได้ผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ต้องงดน้ำในเดือนกันยายน - ตุลาคม (มะนาวจะใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผล ผลิตประมาณ 4 - 5 เดือน) เริ่มงดให้น้ำมะนาวประมาณกลางเดือนกันยายน แต่เนื่องจากเป็นฤดูฝน จึงต้องควบคุมด้วยการใช้ผ้าพลาสติกคลุม โคนต้น (ปากวงบ่อ) ไม่ให้น้ำซึมลงไปในดินภายในวงบ่อ ส่วนทางรากมะนาวก็จะดูดน้ำไม่ได้ เนื่องจากมีฝารองวงบ่อกั้นอยู่ประมาณ 15 - 30 วัน ใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยวหรือมีใบร่วง หลังจากนั้นนำผ้าพลาสติกคลุมโคนออก ให้น้ำและปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 50 กรัม/ต้น ซึ่งเมื่อดอกเริ่ม บานจำเป็นต้องมีการจัดการให้น้ำโดยเริ่มให้ดินมีความชุ่มชื้นบ้างในระยะแรก และเพิ่มขึ้นเมื่อมีการติดผลทั่วต้น ซึ่งถ้าการควบคุมดูแลการให้ น้ำไม่ดีพอ อาจทำให้ต้นขาดน้ำและทำให้ผลอ่อนหลุดร่วงได้ ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีให้ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 200 กรัมต่อต้นร่วมกับ ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 50 กรัม และเมื่อได้ผลผลิตแล้วต้องเตรียมบำรุงสภาพต้นให้สมบูรณ์กลับคืนโดยเร็วโดยการตัดแต่งกิ่ง ปลิดช่อดอกและ ผลเล็กออกให้หมด และใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้พร้อมที่จะผลิตมะนาวนอกฤดูรุ่นต่อไป การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์เพื่อให้ได้ผลผลิตนอกฤดู จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้ผลผลิตนอกฤดูกาล ทำให้ ไม่ต้องซื้อมะนาวในราคาที่แพงแล้วยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านได้อีกด้วย จึงขอเชิญชวนทุกท่านทดลองปลูก แม้เพียง 1 - 2 ต้นก็ ยังดีและเมื่อเกิดความชำนาญแล้วอาจจะกลายเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพใหม่ ต่อไปในอนาคตก็ได้…

0 ความคิดเห็น: