“ปาล์มน้ำมัน” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ถูกจับตามองในฐานะแหล่งพลังงานทดแทน กอปรกับปาล์มเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์หลายด้านทั้งอุปโภค บริโภคและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมาก ส่งผลให้ในช่วงปีที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามกำหนด แนวทางการส่งเสริมการปลูกปาล์มในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันและช่วยขจัดปัญหาความยากจน แต่เนื่องจากปาล์มเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณที่สูงมาก จึงเกิดคำถามว่าจริง ๆ แล้วพื้นที่ในภาคอีสานซึ่งยังคงประสบปัญหาภัยแล้งนั้นเหมาะสมกับการปลูกปาล์มมากน้อยเพียงไร
นายธีระพงษ์ จันทรนิยม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า
การปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสานนั้นสามารถปลูกได้ แต่ต้องคำนึงถึงสภาพดินและน้ำเป็นหลัก เนื่องจากธรรมชาติปาล์มเป็นพืชที่ชอบขึ้นในบริเวณเขตร้อนชื้น ดินคุณภาพดีมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร/ปี และมีการกระจายตัวสูงอาทิ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือบริเวณภาคใต้ของไทย ดินต้องดี และมีฝนตกตลอดปีผลผลิตจะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับ ปริมาณปุ๋ยและธาตุอาหารที่ปาล์มได้รับเป็นหลัก
แต่สำหรับภาคอีสานปัจจัยหลักของการเพิ่มผลผลิตนั้นอยู่ที่ ดินและน้ำ เช่น พื้นที่เป็นดินทรายก็จะมีปัญหาเรื่องการอุ้มน้ำอีกทั้งหากต้องประสบภาวะฝนทิ้งช่วงนาน มีช่วงแล้งยาวจะทำให้ปาล์มเกิดสภาวะการขาดน้ำ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพผลผลิตของปาล์มได้ ทั้งนี้เนื่องจากผลวิจัยใน “โครงการผลของการให้น้ำต่อการเพิ่มผลผลิตของปาล์มน้ำมัน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
ซึ่งได้ติดตามศึกษาผลของสภาวะแล้งที่มีต่อการพัฒนาปาล์มถึงระบบการให้น้ำต้นปาล์มในช่วงฤดูแล้ง โดยมีการจัดระบบให้น้ำต้นปาล์มเปรียบเทียบกับกลุ่มปาล์มที่ไม่ได้รับน้ำ พบว่า การขาดน้ำมีผลต่อการเจริญเติบโต และปริมาณผลผลิตของปาล์มโดยในสภาพที่ไม่มีฝนตกต่อเนื่อง 2-3 เดือน ในช่วงแตกใบ จะทำให้ทางใบหักต้องมีการตัดใบทิ้ง การสังเคราะห์แสงเพื่อเป็นอาหารจึงไม่เพียงพอหากช่วงแล้งเกิดขึ้นในช่วงการกำหนดเพศนั้น จะทำให้มีสัดส่วนเพศผู้มากขณะที่เกษตรกรต้องการดอกเพศเมีย ซึ่งมีปริมาณการให้น้ำมันมากกว่าสำหรับในช่วงการผสมเกสร หากเจอภาวะแล้ง จะทำให้ประสิทธิภาพ ในการผสมเกสรลดลง การพัฒนาเป็นผลน้อย ปริมาณผลผลิตที่ได้จึงลดลง เนื่องจากจำนวนผลต่อทะลายต่ำน้ำหนักทะลาย ลดลง 10-15% มีผลให้ปริมาณการผลิตผลปาล์มน้ำมันโดยรวมลดลงเหลือเพียง 2 ตัน/ไร่/ปี ในขณะปาล์มซึ่งปลูกในบริเวณที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้รับน้ำตลอดปีจะสามารถผลิตผลปาล์มได้สูงถึงประมาณ 3-3.5 ตัน/ไร่/ปี
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีหากภาครัฐยังคงมีนโยบาย การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในภาคอีสานก็สามารถปลูกได้ โดยแนะนำให้มีการเลือกพื้นที่การเพาะปลูกให้ดีดินจะต้องไม่เป็นดินทราย มีสภาวะเป็นเกลือ หรือเป็นดินลูกรังสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ มีระบบการจัดการน้ำที่ดีสามารถผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง
การติดตั้งระบบการให้น้ำปาล์มในภาคอีสาน:
ให้วางเป็นท่อยาวที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตรจากผิวดิน ควบคุมการให้น้ำให้มีความชื้นเพียง 70% หรือสังเกตได้จากการกำดินเป็นก้อนนั้นเพียงพอที่จะช่วยให้ปาล์ม มีศักยภาพในการผลิตมากที่สุด ขณะที่การให้น้ำมากเกินไปไม่เพียงสิ้นเปลือง ยังเป็นผลเสียทำให้น้ำชะปุ๋ยลงไปใต้ดินลึกมากขณะที่ราก ซึ่งทำหน้าที่ดูดอาหารจะอยู่ที่บริเวณ 15-20 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนวิธีการให้ปุ๋ยจากเดิมซึ่งใช้วิธีการหว่านให้เปลี่ยนเป็นการให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ ซึ่งทำให้ปุ๋ยสามารถละลายไปพร้อมกับน้ำลงสู่ต้นปาล์มได้รวดเร็ว โดยใช้ได้กับการให้น้ำแบบหยด หรือมินิสปริงเกิล หากระบบการให้น้ำมีการกระจายอย่างสม่ำเสมอ ธาตุอาหารก็จะกระจายทั่วทั้งแปลงดี ลดการสูญเสียจากการชะล้าง มีประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยสูง ช่วยลดต้นทุนการผลิตคุ้มค่าในระยะยาว
ผลการวิจัย “โครงการจัดการระบบการให้น้ำและปุ๋ยทางระบบน้ำเพื่อผลผลิตปาล์มน้ำมัน” โดยนายสมเกียรติ สีสนอง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่า
การให้ปุ๋ยทางระบบน้ำจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น โดยแปลงที่ให้ผลผลิตสูงสุดที่ระดับ 4.0 ตัน/ไร่/ปี ที่ต้นทุนการผลิต 0.72 บาท/กก. เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 2.72 ตัน/ไร่/ปี ที่ต้นทุน 1.52 บาท/กก. และผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศมาเลเซีย 3.01 ตัน/ไร่/ปี ที่ต้นทุนการผลิต 0.70–1.00 บาท/กก.
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดการแปลงในแต่ละปีแล้วค่าใช้จ่ายในส่วนของปุ๋ยลดลงประมาณ 45–60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ปริมาณผลผลิตและธาตุอาหารในดินและ ใบพืชยังอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ต้นทุนที่ลดลงก็สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบน้ำได้
ข้อควรพิจารณาก่อนปลูกปาล์ม:
อย่างไรก็ดีการพิจารณาว่าควรจะปลูกปาล์มในภาคอีสานหรือไม่นั้นก็ควรคำนึงถึงสภาพพื้นที่เพาะปลูกเป็นสำคัญว่า มีสภาพแล้งรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีแหล่งน้ำพอที่จะนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นปาล์มได้ตลอดฤดูแล้งหรือไม่ ที่สำคัญ ต้องพิจารณาด้วยว่าผลกำไรที่ได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นคุ้มค่ากับต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการวางระบบน้ำหรือไม่เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาในการเพาะยาวนานกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องใช้เวลาหลายปีฉะนั้นการวางแผนการปลูกปาล์มจึงมีความจำเป็น ทั้งในเรื่องของสภาพของดิน การให้ปุ๋ยและระบบการให้น้ำ เพื่อให้การปลูกปาล์มของเกษตรกรประสบผลสำเร็จมากที่สุด.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น