วิธีการปลูกข้าวในอ่างซีเมนต์(บ่อส้วม)

นายธนาวัฒน์  โชคกำทอง  หมอดินอาสาบ้านหนองกระโดน  ตำบลบึงอ้อ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา   มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 24 ไร่   ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกข้าวอินทรีย์  มันสำปะหลัง ยางพารา  ปลูกไม้ผล ผักสวนครัว เลี้ยงปลา  จนประสบความสำเร็จโดยเน้นแบบอินทรีย์อยู่ได้แบบพอเพียง  และล่าสุดคิดวิธีการปลูกข้าวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์  
การเตรียมเมล็ดพันธุ์


โดยนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะต้นกล้าในถาด แช่เมล็ดข้าวไว้ 2 คืน แล้วทำการดูดน้ำออก ให้สังเกตต้นข้าวจะแตกหน่อออกราก พอเพาะได้ 7 วัน ต้นกล้าข้าวจะสูง 2 นิ้ว ให้ใส่น้ำลงไปให้เห็นเฉพาะปลายข้าวที่โผล่ขึ้นมา พร้อมที่จะปลูก
การปลูกข้าวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์
1.การปลูกเริ่มต้น ด้วยการเตรียมท่อปูนขนาด 50x50 เซนติเมตร (บ่อส้วม)
2.ใส่ดินลงไปในบ่อให้มีความสูงขนาด 40 เซนติเมตร
3.นำดิน 1 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัม เทลงไปบนหน้าดิน แล้วใส่น้ำให้เต็มบ่อแช่ดินไว้เพื่อกำจัดวัชพืช 15 วัน
4.เมื่อครบกำหนด 15 วัน ให้ทำการใส่ปุ๋ยคอก แล้วนำข้าวมาปักต้นกล้า โดยปักบ่อละประมาณ 7 กอ ถ้ามากกว่านี้จะทำให้แน่นไป
5.หลังจากปักดำครบ 15 วัน ให้ใส่น้ำเต็มบ่อ เพื่อให้มีความชุ่มชื้น60% และใส่ปุ๋ยคอกลงไป 1 กก./บ่อ ใส่ 15 วันต่อครั้ง
6.เมื่อต้นข้าวสูง 50-60 เซนติเมตร ข้าวจะสมบูรณ์ อยู่ในช่วงข้าวตั้งท้อง หากมีใบเหลืองให้ใส่ปุ๋ยคอก 3 ขีดต่อ 1 บ่อ ตามด้วยการฉีดน้ำหมัก พด.2 และ พด.7 เพื่อป้องกันแมลง โดยเบื้องต้นการป้องกันแมลงให้นำมะกรูดมาผ่าเป็นซีกแล้วนำไปลอยน้ำในบ่อไว้ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของหนอน แมลง
7.ในการเก็บผลผลิตข้าว ให้เก็บรวงข้าวโดยการเด็ดชุดแรกตรงป้องแรกของรวงข้าว ต่อ 1 ต้นสามารถเก็บได้ 3รอบ โดยให้เก็บผลผลิตเมื่อข้าวเริ่มมีการตั้งท้องในปล้องที่สองของต้นข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวรุ่นที่สามแล้ว ให้ทำการกดต้นข้าวฝังลงไปในดินในบ่อ เหมือนการไถกลบตอซังข้าวและปล่อยน้ำเข้าบ่อให้ท่วมพอดีเป็นการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเตรียมบ่อลงปลูกรอบต่อไป
ผลผลิตใน 1 บ่อต่อรอบที่เก็บจะได้ปริมาณข้าวเปลือกบ่อละ 1.8 กิโลกรัม
สูตรน้ำหมักบำรุงนาข้าว
วัตถุดิบ กล้วยสุก 5 กิโลกรัม ,มะละกอ 5 กิโลกรัม,ฟักทอง 5 กิโลกรัม สับผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับกากน้ำตาล 10 ลิตร หัวเชื้อ 5 ลิตร พด.2 1 ซอง ละลายน้ำ 150 ลิตร หมักนาน 3 เดือน อัตราส่วนในการใช้ น้ำหมัก 1 ขวดลิโพต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต
สูตรน้ำหมักกำจัดป้องกันไล่แมลง
1.พริกสด 1 กิโลกรัม
2.กระชาย 1 กิโลกรัม
3.มะกรูดผ่าซีก 50 ผล
4.กากน้ำตาล 5 ลิตร
5.น้ำหมักหัวเชื้อ 5 ลิตร
6.น้ำส้มควันไม้ 5 ลิตร
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าคนให้เข้ากัน ผสมกากน้ำตาลที่ละลายกับน้ำ 20 ลิตรเอาไว้ ตามด้วยการนำ พด.7 มาละลายน้ำ 15นาที นำมาหมักรวมทั้งหมดในถัง หมักนานอย่างน้อย 20 วัน สามารถนำไปใช้ได้ น้ำหมัก 1 ขวดลิโพต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยกำจัดป้องกันไล่แมลงทุกชนิด

กรีดยางใช้ระบบกรีด 2 รอย ให้ผลผลิตสูง

การพัฒนาวิจัยระบบกรีดยางใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่สถาบันวิจัยยางต้องดำเนินการ  เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง  กรีดได้นานที่สุด 20-25 ปี  ทำความเสียหายกับต้นยางน้อยที่สุด  และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่กรีดที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น  และเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง  นอกเหนือจากระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวัน  หรือระบบกรีดสองวันเว้นวัน

จากการที่ราคายางพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเร่งกรีดยาง ขณะนี้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ใช้ระบบกรีดถี่หรือกรีดหักโหม โดยเฉพาะกับสวนยางที่เริ่มเปิดกรีดใหม่จะกรีด 4 วันเว้น 1 วัน และกรีด 3 วันเว้น 1 วัน โดยกรีด 1 ใน 3 ของลำต้น ทำให้ผลผลิตที่ได้ ต่อวันลดลง รายได้ต่อวันก็น้อยลงตาม และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นยางเพราะจะทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง อายุการกรีดสั้นลง นอกจากนี้ ยังมีผลต่อคุณภาพไม้ยาง ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ส่งผลเสียหายต่อรายได้เกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศที่อาจมีขึ้นในอนาคตข้างหน้า
กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองการใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด กับยางพันธุ์ RRIM 600 เพื่อหาระบบกรีดใหม่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้สูงขึ้น ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยการกรีดสลับหน้า ต่างระดับ เป็นวิธีการที่เปิดกรีดหน้ายางทั้ง 2 หน้ากรีด ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น วันเว้นวัน โดยหน้ากรีดแรกเปิดกรีดต่ำ ที่ระดับ 80 เซนติเมตรจากพื้นดิน หน้ากรีดที่ 2 เปิดกรีดที่รอยกรีดสูงระดับ 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน ซึ่งช่วงระยะห่างระหว่าง 2 รอยกรีด 75-80 เซนติเมตร ซึ่งวิธีนี้ทำให้ต้นยาง มีเวลาพักเพื่อสร้างน้ำยางได้ โดยปกติต้นยางจะใช้เวลาในการสร้างน้ำยางประมาณ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน จึงทำให้กระบวนการสร้างน้ำยางเกิดขึ้นสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น จากวิธีดังกล่าวสามารถเพิ่มผลผลิต สูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน 24-28% นอกจากนี้ ได้ทดลองกรีดหลังจากกรีดยาง 7 ปี พบว่าให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18% ดังนั้น การใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด เป็นระบบใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน18% จึงเป็นระบบกรีดที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต และไม่เป็นอันตรายต่อต้นยาง ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย เพราะใช้ถ้วยรองรับน้ำยางใบเดียวกัน สลับใช้ เพียงแต่เพิ่มค่าขดลวดแขวนต้นยางเท่านั้น

วิธีแก้แสบร้อนที่มือเพราะพริกขี้หนู

ใครที่เคย หั่น ซอย หรือว่าเด็ดพริกขี้หนู แล้วทำให้มือเกิดอาการแสบร้อน วันนี้เกร็ดความรู้มีวิธีแก้เรื่องนี้มาฝากกัน....

 

วิธีแรก คือ ให้นำเกลือแกง (เกลือเค็ม ๆ ที่ใช้ปรุงอาหาร) สักหนึ่งช้อนโต๊ะ ลูบลงบนมือถูไปถูมาความแสบร้อนก็จะคลายลง
ส่วนอีกวิธี คือ แทนที่จะใช้เกลือแกง ก็ให้หันไปใช้แป้ง ไม่ว่าจะเป็นแป้งเด็กทาตัว หรือแป้งหมี่ที่ใช้ทำอาหาร นำมาลูบถูไปตรงบริเวณที่รู้สึกแสบร้อน สักครู่ก็จะรู้สึกดีขึ้น
ลองนำวิธีที่แนะนำไปปฏิบัติตามกันดูได้.

การปรับปรุงคุณภาพลองกอง

ลองกองนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งของภาคใต้ที่รองลงมาจากยางพารา แต่ในช่วงของปีที่ผ่านมาผลผลิตของลองกองที่มีออกขายอยู่ตามท้องตลาดมีน้อยมากสืบเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ผ่านมาของภาคใต้ได้มีฝนตกอยู่ตลอดทั้งปีทำให้ลองกองไม่ติดดอก คุณเฝน เส็มอุมา ซึ่งเป็นวิทยากรในเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพของลองกองแนะนำวิธีการให้ดังนี้


การจัดการหลังจากที่ฝนแล้ง/ทิ้งช่วง :
1. ให้เรากวาดโคนต้นลองกอง วิธีการกวาดคือให้เก็บใบไม้ที่ร่วงและหญ้าต่างๆที่ขึ้นอยู่บริเวณรอบทรงพุ่มของต้นลองกองให้หมดก็คือรอบทรงพุ่มจะต้องเห็นเป็นดิน
2. หลังจากนั้นให้นับวันจากวันที่เรากวาดโคนต้นลองกองไปประมาณ 40 วัน ก็ให้รดน้ำสัก 3 วัน
3. หลังจากนั้นให้สังเกตที่ใบลองกองถ้าใบเหลืองและเฉาแล้ว ก็ให้เราใส่ปุ๋ยเร่งดอกสูตร 8 - 24 - 24 ต้นละ 2 ½ กิโลกรัม
4. ให้รดน้ำต่ออีก 7 วันแล้วหยุดการลดน้ำ ส่วนการให้น้ำก็ให้ต้นละ 30 นาทีต่อวัน
5. หลังจากนั้นให้ดูการเริ่มแตกดอก แล้วให้รดน้ำอีก 1 อาทิตย์ แล้วก็ให้ดูดอกพอดอกเริ่มบานให้เราเลือกดอกที่จะเก็บไว้โดยให้ตัดช่อดอกที่อยู่ด้านบนกิ่งออกเหลือไว้เฉพาะช่อที่อยู่ใต้กิ่ง การไว้ช่อดอกก็ให้วัดเอาโดยวัดระยะห่างของช่อดอกประมาณ 20 เซนติเมตรต่อ 1 ช่อ
6. เมื่อลองกองติดผลแล้วให้ใช้ปุ๋ยสูตร 13 - 13 - 21 ใส่บำรุงผลจนกว่าผลจะใหญ่ ให้ใส่เดือนละครั้งใส่ประมาณ 1 กระป๋องนม
7. การเก็บเกี่ยวให้นับเวลา 6 เดือนจากการติดดอก และ 3 เดือนจากการติดผล
8. พอเราตัดผลเสร็จแล้วก็ให้ใส่ปุ๋ยชีวภาพประมาณต้นละ 5-7 กิโลกรัม และก็ตัดแต่งกิ่งพร้อมกันไปด้วย สำหรับการดูแลเรื่องการให้น้ำในช่วงที่ลองกองติดผลมีเคล็ดลับง่ายๆคือให้ดูที่ช่อดอกในตอนเช้า ถ้ามีเหงื่อที่ช่อผลก็แสดงว่าลองกองสมบูรณ์เรื่องของน้ำยังเพียงพออยู่

การจัดการสวนยางในช่วงฤดูฝนและหลังน้ำท่วม

ในช่วงฤดูฝนของทุกปี อุทกภัยที่เกิดขึ้นจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะทางภาคใต้นั้น มักจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอยู่เสมอ และก่อให้เกิดปัญหาแก่เจ้าของสวนยางสวนยางพาราของพี่น้องชาวสวนยางก็เช่นกัน ในแต่ละปีก็มักจะได้รับผลกระทบที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และขณะนี้ก็เป็นช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักติดต่อกันบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นมาได้ นอกจากจะไม่สามารถกรีดยางได้แล้ว การระบาดของโรคยางก็เป็นปัญหาสำคัญโรคที่มักจะเกิดกับต้นยางในช่วงฤดูฝน   ถึงแม้จะไม่รุนแรงจนทำให้ต้นยางตายแต่มีผลทำให้ต้นยางแคระแกร็น ผลผลิตลดลงได้และในขณะเดียวกันการเกิดสภาวะน้ำท่วมก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ต้นยางได้เช่นกัน


การจัดการสวนยางหลังจากประสบกับภาวะน้ำท่วม :
ในกรณีที่เกิดภาวะน้ำท่วม เมื่อหลังน้ำท่วมผ่านไปชาวสวนยางควรทำประการแรก คือ ให้เกษตรกรทำการสำรวจสภาพทั่วไปของสวนยางของท่าน ถ้าหากยังมีน้ำท่วมขัง ให้ทำการระบายน้ำออกไปจากสวนยาง ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกไปจากสวนยางได้ เนื่องจากบริเวณรอบสวนยางมีสภาพพื้นที่สูงกว่า ขอให้เกษตรกรขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถวยาง เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในร่องน้ำที่ขุดไว้ ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการขุดร่องน้ำ เพราะจะทำให้โครงสร้างดินเสียหาย และอาจทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบรากเป็นอันตรายต่อต้นยางได้ ควรใช้แรงงานหรือเครื่องจักรขนาดเล็กได้ตามความเหมาะสมของสวนยางแต่ละแห่ง
ถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นกับต้นยางอายุน้อยกว่า 1 ปี ในกรณีที่ต้นยางได้รับความเสียหายมากหรือตายไปให้รอปลูกซ่อมด้วยยางชำถุงในปีถัดไป โดยปลูกซ่อมให้เร็วที่สุดเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับต้นที่กิ่งกระโดงได้รับความเสียหาย ให้ตัดกิ่งกระโดงส่วนที่ได้รับความเสียหายทิ้งไป เพื่อป้องกันการตายจากยอดลงมา แล้วทาด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราเข้าทำลายที่อาจก่อให้เกิดอาการเน่าของบาดแผล โดยใช้สารเคมีเบนเลทผสมน้ำให้มีความเข้มข้น 5 % ทาให้ทั่วบาดแผลที่ตัดแต่งไว้
จากนั้นรอการแตกแขนงใหม่ตามวิธีบำรุงรักษาต้นยางปกติต่อไป โดยให้เหลือกิ่งกระโดงกิ่งเดียวเพื่อเจริญเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ตามปกติ ในกรณีที่ต้นยางอยู่ในสภาพตั้งตรงแล้วควรระมัดระวังอย่าให้เป็นอันตรายต่อรากต้นยางด้วย
กรณีต้นยางอายุ 1-2 ปี ซึ่งเป็นต้นยางที่ยังไม่มีทรงพุ่มใบ หรือมีการแตกกิ่งบ้างเพียงเล็กน้อย ให้รีบช่วยเหลือต้นยางที่ล้มเอนเอียงให้ตั้งตรงในขณะดินเปียกชื้น แล้วใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคงอันดินที่โคนต้นให้แน่น ระวังอย่าให้เป็นอันตรายกับรากยาง ในกรณีที่ยอดหักเสียหายให้ตัดทิ้ง แล้วทาด้วยเบนเลทผสมน้ำเข้มข้น 5 % เช่นกัน คอยตัดแต่งกิ่งที่แตกออกมาให้เหลือเพียงกิ่งเดียว เพื่อเป็นลำต้นหรือยอดต่อไป และในกรณีที่เปลือกลำต้นได้รับความเสียหาย อาจจะต้องขูดส่วนที่เสียหายทิ้งไปบ้าง แล้วควรทาปูนขาวผสมน้ำเข้มข้น 10-20 % เพื่อป้องกันการคายน้ำและแดดเผาไหม้ ซึ่งอาจจะทำให้ต้นยางแห้งตายได้ในเวลาต่อมา ต้นยางเหล่านี้จะแตกแขนงออกมาภายใน 3-4 สัปดาห์ ต้องตัดแต่งออกให้หมดให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน 2.0-2.5 เมตรขึ้นไป เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นทรงพุ่มและพัฒนาเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ตามปกติต่อไป
กรณีต้นยางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมมีอายุ 2-3 ปีแล้ว สภาพปกติต้นยางอายุ 2-3 ปี จะเริ่มสร้างทรงพุ่มที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง ต้นยางที่ล้มเอนจะมีส่วนที่กิ่งก้านฉีดขาดไปบ้างบางส่วน ถ้าลำต้นยังอยู่ในสภาพปกติและรากแก้วสมบูรณ์ ให้รีบตัดกิ่งก้านพุ่มใบทิ้งให้สูงจากพื้นดิน 2.5 เมตร แล้วใช้เชือกดึงลำต้นขึ้นตั้งตรงพร้อมกับใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคงจากนั้นกลบดินโคนต้นอัดให้แน่นแล้วทาปูนขาวที่ผสมน้ำเข้มข้น 10-20 % ส่วนลำต้น เพื่อป้องกันแดดเผาไหม้เสียหาย ขั้นต่อไปคอยตัดแต่งกิ่งแขนงตลอดลำต้นทิ้งออกไปให้หมด โดยพยายามตัดให้ชิดลำต้นมากที่สุด เหลือไว้เฉพาะส่วนยอดลำต้นที่ระดับ 2.0-2.5 เมตร เพื่อพัฒนาเป็นทรงพุ่มปกติต่อไป
กรณีต้นยางใหญ่กรีดได้แล้ว มักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าต้นยางเล็ก ต้นยางเปิดกรีดที่ยังอยู่ในสภาพปกติ ขอให้งดการกรีดยางไปก่อนจนกว่าสภาพดินจะแห้งปกติ เพราะในสภาพน้ำท่วมขังรากยางบางส่วนจะได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย จะไม่สามารถใช้ธาตุอาหารได้ การกรีดยางอาจจะเกิดความเสียหายให้กับหน้ากรีดได้ นอกจากนั้นควรทาหน้ากรีดด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันโรคเส้นดำ เช่นสารเคมีเมทาแลคซิล เป็นต้น
การจัดการน้ำท่วมขังสวนยาง :
นอกจากปัญหาเรื่องโรคยางแล้ว เจ้าของสวนยังต้องเฝ้าระวัง ผลกระทบต่อสวนยาง จากภาวะน้ำท่วม ก็อาจจะเป็นปัญหาที่ตามมาอีก ถ้าหากเกิดน้ำท่วมขังในบริเวณสวนยาง มีแนวทางการจัดการดังนี้
ควรเร่งระบายน้ำออก ถ้าไม่สามารถทำได้เนื่องจากบริเวณรอบสวนมีสภาพพื้นที่สูงกว่า ขอให้ทำการขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถว เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในคูที่ขุดไว้ต้นยางที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ที่เสียหายมากหรือตายไป ให้ปลูกซ่อมด้วยต้นยาง ชำถุงให้เร็วที่สุด เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับต้นยางเล็กอายุ 1-2 ปี ถ้าหากเอนล้มให้ทำการยกตั้งให้ตรง ใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคง อัดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น ในกรณีที่ยอดหักหรือเกิดความเสียหาย ให้ตัดทิ้งแล้วทาด้วยสารเบนเลท เข้มข้น 5% หมั่นคอยตัดแต่งกิ่งให้เจริญเติบโตไปตามปกติต่อไป.

การดูแลสวนยางในฤดูแล้ง

นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เผยว่า 
วิธีการดูแลสวนยางในช่วงฤดูแล้ง: 
- ในช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงที่อากาศร้อน ขาดความชุ่มชื้น เกษตรกรจึงต้องเอาใจใส่ดูแลต้นยางเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งต้นยางในช่วง 2 ปีแรก ที่ปลูกในเขตแห้งแล้ง ที่ระบบรากยังไม่สมบูรณ์ อาจชะงักการเจริญเติบโตหรืออาจแห้งตายได้ 
- การคลุมโคนต้นยางด้วยเศษซากพืช ซากวัชพืชที่หาได้ในท้องถิ่น จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตอย่างเป็นปกติต่อไป 
- ขณะเดียวกันต้นยางในช่วง 2 ปีแรก ที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดดบริเวณลำต้น ทำให้เปลือกลำต้นไหม้และเป็นรอยแตก เนื่องจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นรับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งเกษตรกรควรใช้ปูนขาว (ปูนที่ใช้ปรับสภาพดิน) ละลายน้ำ ทาบริเวณโคนต้นตรงส่วนที่มีสีน้ำตาล หรือสีเขียวอมน้ำตาล หรือสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

- ทั้งนี้ เกษตรกรต้องดูแลต้นยางอ่อนเพื่อให้รอดตายแล้ว เกษตรกรต้องให้ความระมัดระวังไฟไหม้สวนยางด้วย เพราะเป็นช่วงที่อากาศแห้ง รวมทั้งกระแสลมที่พัดรุนแรง โดยเฉพาะภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีช่วงแล้งยาวนาน ไม่ก่อกองไฟ หรือทิ้งก้นบุหรี่ในสวนยาง เฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ มีรถวิ่งผ่านไปมา
- ขณะเดียวกันเกษตรกรควรมีวิธีป้องกันไฟไหม้สวนยาง ซึ่งควรกระทำก่อนเข้าหน้าแล้ง โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยาง กำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร
- การกำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางเป็นการป้องกันไฟไหม้ที่เกิดภายในสวนยางและไม่ควรใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช เพราะวัชพืชที่แห้งตายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ดังนั้น หน้าแล้งเกษตรกรจึงควรเอาใจใส่ ปฏิบัติดูแลสวนยางเป็นพิเศษ

การบำรุงพื้นนาให้สมบูรณ์โดยใช้ถั่วพุ่ม

        หลังจากผ่านฤดูกาลทำนา เก็บเกี่ยวข้าวในนาหมดแล้ว เกษตรกรบางท่านปล่อยพื้นที่นาไว้โดยไม่ได้บำรุงพื้นที่นาเพื่อเตรียมไว้ในช่วงฤดูกาลหน้า แต่สำหรับป้าเจือ สิงโหพล เกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งปลูกข้าวนาปรัง และข้าวพันธุ์ที่ปลูกนั้นคือ ข้าวพันธุ์เล็บนก พันธุ์สังข์หยด และข้าวพันธุ์หอมมะลิ  ป้าเจือบอกว่าโดยวิธีการของป้าเจือหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวในแต่ละพื้นที่นาแล้ว จะตัดตอซังข้าวออกนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพโดยใส่ไว้ในคอกวัวและคอกหมูหลุม

ส่วนพื้นที่นานั้นจะมีวิธีการปรับสภาพดินให้ดีรอเตรียมไว้ปลูกข้าวในครั้งต่อไปโดยมีวิธีการปรับสภาพดินดังต่อไปนี้
1.ทำการตัดตอซังข้าวออกจากพื้นนา (สามารถเอาตอซังข้าวไปใส่ในคอกวัวหรือหมูหลุมเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักได้)
2.หว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่มลงไปในพื้นนา อัตราการหว่าน 3 กิโลกรัม / 1 ไร่
3.หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ทั่วพื้นที่นาแล้ว ให้ทำการไถกลบ
4.หลังจากถั่วพุ่มที่หว่านงอกและโตขึ้นในระดับพอเริ่มตั้งดอกให้ทำการไถกลบถั่วพุ่มที่ปลูกในพื้นที่นาอีกครั้ง
5.เมื่อไถกลบเรียบร้อยแล้วให้ปล่อยน้ำเข้านาให้น้ำขังในพื้นนารอช่วงที่จะทำนาครั้งต่อไป
6.และเมื่อเราจะเริ่มทำนารอบต่อไปให้เราทำการไถนาพื้นที่นานั้นเพื่อทำเทือก พร้อมสำหรับการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว
สำหรับวิธีการปรับสภาพดินโดยวิธีการข้างต้นนั้น ป้าเจือบอกว่าจะช่วยให้สภาพดินดี ปลูกข้าวครั้งต่อไปจะขึ้นงาม ต้นข้าวแข็งแรงสมบูรณ์

*การผลิตกุยช่ายขาว

กลุ่มพัฒนาอาชีพการผลิตผักกุยช่ายขาว(หรือผักแป้น) ภายใต้การนำของนายบุญชู สีแสนชุยประธานกลุ่ม เป็นเกษตรกรที่ชอบแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาชุมชนอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาสินค้าเกษตร    ได้เป็นผู้ริเริ่มคิดค้นหาวิธีการเพิ่มมูลให้กับกุยช่ายที่กลุ่มปลูกไว้ ด้วยการนำกระถางดอกไม้ทรงสูงมาครอบกอผักกุยช่าย(ผักแป้น)ไม่ให้โดนแดด จะทำให้ผักมีสีขาวดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกุยช่ายไปในตัวด้วย

ขั้นตอนการปลูกกุยช่ายขาว :
1.เริ่มด้วยการเตียมดิน โดยการยกแปลงให้สูงขึ้นขนาด 1.20 เมตร
2.ปรับปรุงดินโดยการใช้ป๋ยหมักชีวภาพ
3.จัดการเตรียมพันธ์กุยช่ายขาวมาปลูก ระยะห่างประมาณ 25-30 ซม. แปลงกว้าง 1.20 เมตรปลูกได้ 4 แถว
4.รดน้ำประมาณ 2 ครั้งและรดน้ำหมักชีวภาพทุกๆ 7 วัน

ในการผลิตกุยช่ายขาว จะผลิตสลับกับกุยช่ายเขียว กล่าวคือ หลังจากตัดกุยช่ายเขียวแล้วนำกระถางดินเผาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18-20 ซม.มาครอบที่กอกุยช่ายให้น้ำวันละครั้ง โดยไม่ต้องเปิดกระถางจะใช้เวลา 8-10 วัน กุยช่ายจะมีความยาวประมาณ 1 ฟุตก็จะทำการเปิดกระถางและทำการตัดแล้วปล่อยให้กุยช่ายเจริญเติบโตเป็นผักกุยช่ายเขียวเป็นเวลา 45 วันก็จะตัดจะทำการตัดให้ตรงตามความต้องการของตลาดจนเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกเท่าตัว
ด้านการตลาด : ตอนนี้กุยช่ายเขียวจะตกกิโลกรัมละ 14-15 ต่อกิโลกรัม ส่วนกุยช่ายขาวจะตัดส่งให้แม่ค้าที่มารับชื้อถึงสวนกิโลกรัมละ 80 บาท

*การปลูกมะระด้วยเทคนิคการห่อผลป้องกันแมลง

มะระ เป็นพืชผักที่นิยมปลูกกันมากในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากมะระเป็นพืชอายุสั้น ให้ผลผลิตตั้งแต่ 40-45 วันขึ้นไป และจะเก็บไปได้ประมาณ 80-90 วัน 
เกษตรกรที่ปลูกมะระเป็นอาชีพ และประสบความสำเร็จสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้ในราคาดีต้องเริ่มจากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีการจัดการและดูแลที่ดี โดยได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ดังต่อไปนี้

วิธีการปลูกมะระ :
เริ่มจากวิธีการเพาะกล้า - โดยต้องนำเมล็ดมาแช่น้ำ ประมาณ 5-6 ชั่วโมง แล้วนำมาห่อด้วยกระดาษทิชชู่นำไปเก็บไว้ในถังพลาสติกปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากโผล่ แล้วก็เลือกเมล็ดที่รากงอกนั้น นำไปปลูกในถาดเพาะเมล็ดเป็นเวลา 1 อาทิตย์ จากนั้นนำไปปลูกในหลุม โดยขุดหลุมให้ลึกพอประมาณ ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม หลุมละประมาณ 1 กระป๋องนม เอาดินใส่ลงไปในหลุมจนหลุมตื้นแล้วจึงนำมะระลงปลูก ควรปลูกในช่วงเย็น เมื่อปลูกเสร็จแล้วให้ใช้ฟางคลุมรอบโคนต้น เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน
การทำค้าง :
มะระเป็นพืชที่ต้องเลื้อยขึ้นค้าง ดังนั้น จำเป็นจะต้องทำค้างให้ขึ้น การปลูกมะระต้องใช้ความขยันเป็นพิเศษ เพราะแมลงชอบเข้าทำลายผลมะระเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแมลงวันทอง วิธีการป้องกันแมลงวันทองเจาะผล ให้ทำการห่อผลมะระด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นการช่วยทำให้ผลมะระไม่ถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชและยังทำให้ผลมีสีเขียวอ่อนน่ารับประทาน
วิธีการห่อผล :
เมื่อมะระเป็นลูกประมาณ 30 วันหลังปลูก จะเป็นที่ชื่นชอบของแมลงต่างๆ โดยเฉพาะแมลงวันทอง เราจึงจำเป็นต้องหากระดาษมาห่อผลไว้ นอกจากจะป้องกันแมลงแล้วยังทำให้ผลมะระเขียวน่ารับประทานอีกด้วย
การเก็บเกี่ยวผลผลิต :
ในการปลูกมะระ ฤดูหนึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน และเริ่มเก็บผลผลิตหลังปลูก ประมาณ 45-50 วัน เมื่อเก็บจนหมดฤดูจะเก็บได้ประมาณ 15-20 ครั้ง สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้ทุกวันขอแนะนำว่าควรจะเก็บ 2 วันครั้ง
ราคา :
ราคาผลผลิตที่เกษตรกรจำหน่ายได้ ขึ้นอยู่กับราคาในท้องตลาด แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้(ราคาออกจากสวน)จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ขึ้นไป

*การปลูกฟักทองและเทคนิคการเพิ่มขนาดผล

คุณนิภา นวลน้อย เกษตรกร บ้านวัดนอก ต.วิสัยเหนือ อ.เมือง จ.ชุมพร ปลูกฟักทองเป็นอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้ง โดยปลูกแซมในสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 7 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณรอบละ 10 – 12 ตัน จำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้ เป็นอย่างดี และมีเทคนิคและวิธีการปลูกฟักทองให้ได้ผลผลิตดี ดังนี้


ขั้นตอนการเตรียมดิน :
-ควรขุดไถดินลึกประมาณ 25-30 ซม. เพราะเป็นพืชที่มีระบบรากลึก
-ควรตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและวัชพืชได้บ้าง
-ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน แล้วจึงย่อยพรวนดินให้ร่วนซุย
-เก็บเศษวัชพืชต่างๆ ออกจากแปลงให้หมด
ขั้นตอนการปลูก :
-โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตรใช้วิธีหยอดหลุมปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด ลึกประมาณ 3-5 ซม. แล้วกลบหลุม
-ถ้ามีฟางข้าวแห้ง ให้นำมาคลุมแปลงปลูก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าดิน
-เมื่อต้นกล้างอกจะมีใบจริง 2-3 ใบแล้ว ควรถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป เหลือต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง เหลือหลุมละ 2 ต้น และรดน้ำทุกวันเมื่อต้นกล้าเจริญจนมีใบจริง 4 ใบ
-ช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อต้น
-เมื่อฟักทองเริ่มออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 14-14-21โรยรอบๆ ต้น ( ประมาณ 1 กำมือ ) แล้วรดน้ำตามและใส่ปุ๋ยอีกครั้งเมื่อฟักทองเริ่มติดผลอ่อน
-การรดน้ำต้องรดน้ำทุกวัน จนคะเนว่าอีก 15 วัน จะเก็บผลแก่ได้ จึงเลิกรดน้ำ
เทคนิคต่างๆในการปลูกฟักทอง :
-การผสมเกสร เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไป เคาะละออง เกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดผลจะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป
-การกำจัดแมลงวันทองโดยใช้กล้วยเล็บมือนางเป็นตัวล่อ โดยใช้ขวดน้ำพลาสติกเจาะรูขนาด 3x3 นิ้วทั้งสองด้าน จากนั้นนำกล้วยเล็บมือนางที่สุกจัดๆมาใส่ในขวด แล้วนำยาฆ่าแมลงมาใส่ในขวด เมื่อแมลงวันทองได้กลิ่น กล้วย ก็จะเข้ามากินก็จะทำให้โดนยาฆ่าแมลงตาย
-การทำให้ฟักทองผลโต เมื่อฟักทองติดผลอ่อนได้ประมาณ 5 วันให้ทำการตัดยอดฟักทองออกเพื่อให้น้ำเลี้ยงต่างๆ มา เลี้ยงที่ผลฟักทองได้เต็มที่ จะได้ผลฟักทองที่โตเต็มที่ (ประมาณ 7–10 กก./ ผล )
การเก็บเกี่ยว :
เมื่อผลแก่เก็บเกี่ยวได้ให้สังเกตสีเปลือก สีจะกลมกลืนเป็นสีเดียวกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก ดูนวล ขึ้นเต็มทั้งผล คือมีนวลขึ้นตั้งแต่ขั้วไปจนตลอดก้นผล แสดงว่าแก่จัด การเก็บควรเหลือขั้วติดไว้ด้วยสักพอประมาณเพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้นสามารถเก็บผลไว้รอขาย ได้นานๆ จะทยอยเก็บผลได้ 5-6 ครั้ง จนหมด

*การปลูกเผือกให้หัวมีขนาดใหญ่

การปลูกเผือก หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าหากปลูกโดยขาดความรู้ความเข้าใจแล้วก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ  คุณลุงยิ่งเกษตรกรบ้านคอกม้ามีวิธีการปลูกเผือกที่ให้ผลผลิตดี ได้เผือกขนาดใหญ่ซึ่งมีวิธีการปลูกง่ายๆไม่ยุ่งยากดังนี้

การเตรียมพื้นที่
1.ทำการตัดหญ้าและกำจัดวัชพืชออกไปให้หมด
2.จากนั้นให้ทำการไถและตากดินไว้ประมาณ 7 วัน
3.ทำการขุดหลุมให้มีขนาดกว้างประมาณ 20 ซม.ลึก 20 ซม. ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1 เมตร
4.ให้นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกก็ได้มารองก้นหลุมให้เกือบเต็มปากหลุมแล้วนำดินมากลบให้เต็มหลุมที่ขุดไว้
การปลูก
1.จากนั้นให้นำหัวเผือกอ่อน ( ขนาดหัวประมาณ 3 ซม )ที่เตรียมไว้มาปลูกโดยให้นำหัวเผือกมาวางบนปากหลุมแล้วนำดินมาโรยให้พอมิดหัวเผือก **ห้ามปลูกเผือกในหลุมลึกเพราะจะทำให้เผือกหัวเล็ก**
2.จากนั้นให้นำฟางแห้งมาคลุมเพื่อรักษาความชื้นในดิน
3.ประมาณ 7 วันเผือกก็จะแตกต้นอ่อน

การดูแลรักษา
-การ “พูนโคน” เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปลูกเผือกเพราะถ้าหากว่าเราคอยพูนโคนอยู่เสมอให้สูงจะทำให้หัวเผือกมีขนาดใหญ่ เนื่องจากหัวเผือกก็คือลำต้นใต้ดินที่ขยายออกเพื่อสะสมอาหาร จึงเจริญขึ้นบนมากกว่าลงหัวลึกลงไป โดยจะทำการพูนโคนครั้งแรกตอนใสปุ๋ยครั้งแรก และพูนโคนครั้งที่สองตอนที่ใส่ปุ๋ยรอบที่สอง และพูนโคนครั้งสุดท้ายเมื่อเผือกมีอายุ 120 วัน
-การใส่ปุ๋ยเมื่อปลูกได้ประมาณ 45 วันให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วพูนดินกลบโคน และเมื่อปลูกได้ 90 วันให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13- 13- 21 ต้นละ 1.5 ช้อนโต๊ะแล้วพูนดินกลบโคน
-การให้น้ำควรให้น้ำเมื่อฝนทิ้งช่วงประมาณ 2- 3 วัน/ครั้ง ถ้าหากว่าปล่อยให้เผือกขาดน้ำมากจะทำให้เผือกใบเหลืองและหัวมีขนาดเล็ก

การเก็บเกี่ยว : จะสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อเผือกมีอายุ150วันหรือ 5 เดือนซึ่งจะได้เผือกที่มีหัวขนาดใหญ่ ประมาณ 1 กก./หัว

*การเร่งรากด้วยเครื่องดื่มชูกำลัง

ในปัจจุบันมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น  โดยเฉพาะการปลูกไม้ประดับ  กระถางและไม้ประดับที่ให้ในงานจัดสวน ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นมากมาย เพื่อให้ทันความต้องการใช้ ซึ่งการขยายพันธุ์ไม้ประดับที่ได้รับความนิยมและให้ผลดีสุด คือ การขยายพันธุ์โดยวิธีการชำกิ่ง และวิธีการนี้มักนิยมใช้สารเร่งร่างเช่น เซราดิกซ์ 1,2,3 แช่กิ่งก่อนนำไปชำ แต่วันนี้เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดมีวิธีการเร่งรากที่ช่วยประหยัดต้นทุน ในการซื้อสารเคมี โดยการใช้เครื่องดื่มชูกำลังที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติดังนี้

เทคนิคการเร่งรากของคุณลุงไสว ศรียา เกาตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จ.นครนายก คือ ถ้าต้องการเร่งรากและทำให้พืชแข็งแรงโตไวเคล็ดลับหรือเทคนิคง่ายๆ ก็คือการใส่เครื่องดื่มชูกำลัง หรือลิโพลงไปเวลารดน้ำหรือแช่กิ่งก่อนปักชำ จะทำให้รากงอกเร็วขึ้น และทำให้พืชแข็งแรงโตไว โดยไม่ต้องพึ่งน้ำยาเร่งรากแต่อย่างใด

คุณค่าจากน้ำนมข้าวยาคู

ทำน้ำนมข้าวยาคู
เงินลงทุน
ประมาณ 5,000 บาท (เตาพร้อมถังแก๊ส 2,000 บาท เครื่องบดอาหาร         700 บาท)
รายได้
ประมาณ  15-20  บาท/ขวดขนาด 250 ซีซี
วัสดุ/อุปกรณ์
เตาพร้อมถังแก๊ส  หม้อ  ทัพพี  เครื่องบดอาหาร  กะละมัง  ผ้าขาวบาง  มีด  
ขวดแก้วบรรจุพร้อมฝาจุกปิดขวด  กรวยสำหรับบรรจุ
แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์
ย่านเวิ้งนาครเขษม  สำเพ็ง  ห้างสรรพสินค้าทั่วไป

 

ส่วนผสม
รวงข้าวอ่อน (ข้าวเจ้าหอมมะลิ) 2 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
ถั่วเหลือง 2 ถ้วยตวง
ใบเตยหั่นละเอียด ½ ถ้วยตวง
น้ำสะอาดพอประมาณ
วิธีทำ
1.นำรวงข้าวอ่อนผสมน้ำสะอาดปั่นจนละเอียดกรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำนมข้าว
2.นำถั่วเหลืองแช่น้ำ 1 ชั่วโมง แล้วผสมน้ำสะอาดปั่นจนละเอียดกรองเอาแต่น้ำนมถั่วเหลือง
3.นำใบเตยหั่นละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย ปั่นจนละเอียด กรองเอาแต่น้ำใบเตย
4.นำน้ำนมถั่วเหลืองตั้งไฟ เคี่ยวให้ข้นใส่น้ำนมข้าว คนเรื่อย ๆ ใส่น้ำตาลทราย คนให้น้ำตาลละลายและข้น จึงใส่น้ำใบเตย ต้มจนเดือด
5.ยกขึ้นจากเตา ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วบรรจุขวดนำไปจำหน่าย 

ข้อแนะนำ
1.ข้าวเจ้าทุกพันธุ์สามารถนำมาทำน้ำนมข้าวยาคูได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรเป็นข้าวหอมมะลิ เพราะจะเพิ่มความหอมน่ารับประทาน
2.น้ำนมข้าวยาคูมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี แมกนิเซียม คาร์โบไฮเดรท โปรตีน และไฟเบอร์ ซึ่งเป็นกากใยอาหารที่คอยดูดซับไขมันทำให้ไม่อ้วน เหมาะที่จะนำไปเป็นของฝาก ของเยี่ยมไข้ หรือถวายพระ

วิธีการทำน้ำหมักจากหอยเชอรี

คุณ.หรอผาน ยุทธิอาด  มีอาชีพปลูกข้าว อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลข ที่ 36/1 ม.5 ต.ปากนคร จ.นครศรีธรรมราช    คุณลุง เป็นประธานศูนย์ข้าวปาก นคร โดยอาชีพหลักของคุณลุงก็ทำนาเป็นหลักซึ่งมีพื้นที่ในการทำนาทั้ง หมด ประมาณ 50 ไร่ เป็นนาของตนเอง10 กว่าไร่ อีก 40 ไร่ก็เช่าที่ของญาติๆทำ นา โดยพื้นที่ทั้งหมดจะปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 เพียงพันธุ์เดียวเท่านั้น เพราะพันธุ์นี้ปลูกง่าย ลักษณะของพันธุ์ข้าว มีเมล็ดที่ยาวใหญ่และ ยัง สามารถนำไปแปรรูปเป็นขนมจีนหรือทำขนมได้ ด้วย

การปลูกข้าวพันธุ์ ชัยนาท 1ให้ต้นแข็งแรงด้วยน้ำหมักประหยัดต้นทุนน้ำหมักชีวภาพที่ทำจากหอยเชอรี่ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าวของคุณลุงได้ค่ะ
วิธีการวัสดุที่ใช้
1. หอยเชอร์รี่ 10 กก. (โขกละเอียด)
2. น้ำสะอาด 4 ลิตร
3. หัวน้ำส้ม 1 ขวดใหญ่
4. เหล้าขาว 1 ขวด
5. มะกรูด(ทั้งลูก) 40 ลูก
6. EM. 1 ลิตร
7.กากน้ำตาล 1 ลิตร
วิธีทำ
- ผสมทุกอย่างในภาชนะที่พอเหมาะปิดฝาให้สนิทอย่าให้อากาศเข้า หมักไว้ 7 วันขึ้นไป
- กรองเอาแต่น้ำใส่ภาชนะควรใช้ให้หมดภายใน 3 เดือน
วิธีใช้
- 1 ผสมน้ำ 1 : 100 หยอดตามริมคันนา หรือฉีดพ่นทั่วให้ทั่วแปลงนาในช่วงเย็นทุกๆวัน

เทคนิคการขับไล่แมลงศัตรูไม้ผล

เกษตรกรที่ทำการปลูกไม้ผลชนิดต่างๆไม่ว่าจะ เป็น พุทรา , ชมพู่ , กระท้อน ซึ่งถือว่าเป็นไม้ผลที่สามมารถสร้างรายได้ให้ กับเกษตรกรผู้ปลูกได้เป็นกรอบกำ ไม่แพ้ไม้ผลเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่นกัน  แต่ สิ่งที่เกษตรกรกังวลก็คือในเรื่องของแมลงศัตรูไม้ผลที่เข้ามาทำลายทำให้ผล ผลิตเกิดความเสียหายและรายรับของเกษตรกรก็จะได้รับน้อยลงด้วยครับ  แต่ก็มี เกษตรกรบ้างท่านที่ไม่กังวลกับแมลงศัตรูของไม้ผลเหล่านี้เลย เช่นกับคุณลุง ฉิน ขำวังยาง ที่มีสูตรดีๆที่ใช้ในการป้องกันแมลงศัตรูไม้ผลเข้ามาทำลายได้ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ลองมาดูวิธีการกันดูครับ

 

วัสดุอุปกรณ์
1.ขวดน้ำพลาสติก 1 ขวด
2.ลูกเหม็น 10-20 ก้อน
วิธีการทำ
นำขวดน้ำพลาสติกมาทำการเจาะรูที่ฝาขวดและรอบขวด จากนั้นก็ให้นำลูกเหม็นมาใส่ในขวดพลาสติกประมาณ 10-20 ก้อน เพียงเท่านี้ก็สามารถนำไปผูกแขวนไว้ที่ใต้ต้นไม้ผลได้เลยครับ1ขวดต่อ 1 ต้น แมลงก็จะไม่มารบกวน

สูตรบำรุงต้นข้าวให้แข็งแรงก่อนตั้งท้อง

       เกษตรกรผู้ที่ทำนาข้าวส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีในการบำรุงต้นข้าวช่วง ที่ต้นข้าวสะสมอาหาร ก่อนตั้งท้อง ซึ่งบางครั้ง ถ้าต้นข้าวไม่ใหญ่ อวบ และ สมบูรณ์ ก็จะทำให้รวงข้าวเล็กและน้ำหนักน้อย หรือถ้าออกรวงแล้วรวงใหญ่ ก็จะ ทำให้ต้นข้าวล้มไม่สามารถรับน้ำหนักรวงได้ จึงต้องบำรุงต้นข้าวให้สมบูรณ์ ก่อนเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนตั้งท้อง

 

ส่วนผสม
1.ซากสัตว์ที่ตายแล้ว เช่น ไส้ปลา ไส้ไก่ รวมทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆ 1 ส่วน
2.กากน้ำตาล 1 ส่วน
3.น้ำเปล่า(ใช้ละลายกากน้ำตาลพอเจือจาง)
4.สารเร่ง พด.2 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำ
1.หั่นเนื้อสัตว์ที่ได้มาให้ขนาดเล็ก เท่าที่จะทำได้
2.ผสมกากน้ำตาลกับน้ำให้ละลาย
3.ละลายสารเร่ง พด.2 ในน้ำอุ่น คนให้เข้ากัน ประมาณ 5 นาที
4. นำเนื้อสัตว์ที่ได้ใส่ภาชนะพลาสติก เติมกากน้ำตาลและสารเร่ง พด.2 ที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 2 เดือน
อัตราการใช้
น้ำหมัก 80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร/ไร่ เริ่มใช้ตอนข้าว อายุ 15 วัน ฉีดติดต่อกัน 4 ครั้ง ทุก 7 วัน ถ้าจะให้ได้ผลดีควรฉีดพ่นตอนเย็น
ประโยชน์
บำรุงต้นข้าว ให้ต้นใหญ่ อวบ สมบูรณ์ ก่อนตั้งท้อง เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับรวงข้าวที่ใหญ่และน้ำหนักดี ไม่ทำให้ต้นข้าวล้มง่าย

วิธีขจัดปัญหากวนใจนกเป็ดน้ำลงกวนนาข้าว

   นกเป็ดน้ำ  เป็นนกน้ำลำตัวป้อม  ปากแบนใหญ่ หางสั้น  มีแผ่นพังผืดยึด นิ้วตีน  ช่วยให้ว่ายน้ำได้ดี  ตัวเมียมีลายสีน้ำตาลไม่ค่อยสวยงาม ต่างจาก ตัวผู้ที่มีสีสดใสกว่าชอบลอยตัวรวมกันเป็นฝูงในแหล่งน้ำ มีทั้งว่ายใช้ปาก ไซ้จิกพืชน้ำ จับกินสัตว์น้ำตามผิวน้ำ และดำลงไปจับใต้น้ำ ส่วนใหญ่ทำรังตาม ริมน้ำด้วยพืชน้ำ บางชนิดทำรังในโพรงไม่หรือซอกกำแพง ลักษณะทั่วไป คอ ยาวกว่านกเป็ดน้ำชนิดอื่น หางแหลม และขาสีเทา ตัวผู้ หัวสีน้ำตาลเข้ม คอ ด้านหน้าและอกสีขาว ลำตัวสีเทา สีข้างมีแถบสีเหลือง  ตัวเมีย ขนปกคลุมลำตัว สีน้ำตาล พฤติกรรม ตอนกลางวันลอยตัวรวมกับนกเป็ดน้ำอื่น ๆ ในแหล่งน้ำขนาด ใหญ่ หากินโดยใช้ปากไซ้ตามผิวน้ำ และมุดน้ำโผล่หางแหลมชี้ขึ้นมาให้สังเกต ได้ชัดเจน  วันนี้คุณแม่ทองหยิบ  ประจักษ์สุข  เกษตรกร ชุมชนบ้านท่า งาม  เลขที่ 25  หมู่ที่ 2  ตำบลท่างาม  อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนได้แนะนำ วิธีการไล่นกเป็ดน้ำในช่วงกลางคืนโดยการใช้อุปกรณ์ที่ทำได้เองแบบง่ายๆนั้น ก็คือ ตะเกียงไฟไล่นำเป็ดน้ำนั้นเอง

อุปกรณ์สำหรับการทำตะเกียง
1.ไม้หลักสูงประมาณ 80 เซนติเมตร จำนวน 4 อัน
2.พลาสติกใสหุ้ม (ตามภาพ)
3.ขวดสปอนเซอร์ 1 ขวด
4.น้ำมันดีเซล (ประมาณ ครึ่งขวดสปอนเซอร์)
5.ไส้ตะเตียง โดยใช้เศษผ้าชุบน้ำมัน ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร
วิธีการทำ
1.เริ่มจากนำเสาทั้งสี่หลักตกลงในไปดิน ให้มีระยะห่างที่เหมาะสมทำมุมเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วนำพลาสติกใสมาพันให้รอบเหมือนตะเกียงตั้งโต๊ะนั้นเอง
2.เมื่อตัวตะเกียงด้านนอกเสร็จแล้วก็มาดูในส่วนของการจุดติดไฟกัน โดยเริ่มจากการนำฝาขวดสปอนเซอร์มาเจาะรูเพื่อหย่อยเศษผ้าที่ชุบน้ำมันลงแล้ว ก็เทน้ำมันลงไปในขวดสปอนเซอร์แล้วปิดฝา ทดลองจุดไฟถ้าติดไฟแสดงว่าเป็นอันใช้ได้
วิธีใช้
จุดในเวลากลางคืน ช่วงที่มีนกเป็ดน้ำมารบกวนจะช่วยป้องกันได้ โดยนกเป็ดน้ำจะไม่เข้าใกล้แสงสว่างและบริเวณรอบๆด้วย

ใช้เศษหน่อไม้แทนปุ๋ยเคมีเพิ่มการแตกหน่อ ไผ่นอกฤดู

บ้านห้วยเดื่อ ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย   เป็นพื้นที่ที่ยังคงมีความอุดม สมบูรณ์ของผืนป่า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง  ซึ่งส่วน หนึ่งเกษตรในพื้นที่มีการดูแลป่าไม้ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ทำให้ชุมชนมีส่วน ร่วมในการรักษาป่า ทำให้ป่าได้มีส่วนเกื้อกูลให้เกิดรายได้นั่นคือ อาชีพจาก การแปรรูปหน่อไม้ป่า ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ดัง นั้นก็ไม่แปลกที่จะมีส่วนเศษเหลือจากการแปรรูปหน่อไม้อยู่วันละ  ไม่ต่ำ กว่า 500  กก. /วัน/ครอบครัว  ซึ่งแนวคิดที่จะนำเอาเศษเหลือจากหน่อไม้ที่ เหลือไปใช้ให้เกิดประโยชน์นี้เป็นของคุณปราณี  เขตมนตรี  เกษตรกรผู้แปรรูป หน่อไม้และปลูกไผ่เลี้ยง แห่งบ้านห้วยเดื่อ มาฝากกัน

วิธีการทำ
นำเศษหน่อไม้ที่เหลือจากการแปรรูปมาใส่บริเวณทรงพุ่มของไผ่กอละ 20 ก.ก. จากนั้นราดทับด้วยน้ำหมักจุลินทรีจากหอยเชอรี่ สัดส่วน น้ำหมัก 2 ช้อนโต๊ะ /น้ำ 20 ลิตร ราดให้ทั่วทั้งกองเศษหน่อไม้ให้ชุ่ม ปล่อยทิ้งให้ย่อยสลายเอง เพียง 20 วัน ให้น้ำไผ่ปกติ ผลที่ได้รับคือ ในช่วงหน้าแล้งแม้ว่าขาดน้ำก็ตาม ดินในพื้นที่ป่าไผ่จะยังคงชุ่มอยู่ และจะมีการแตกหน่อของไผ่นอกฤดูได้ดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ นอกการการนำไปใส่ในพื้นที่สวนไผ่นอกฤดูแล้ว ยังสามารถนำไปใส่นาข้าว ทำให้นาข้าวไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ก็มีผลผลิตใกล้เคียงกันกับการใส่ปุ๋ยเคมีเลยทีเดียว ที่สำคัญคือลดต้นทุนการผลิตได้มาก

ข้อควรคิดก่อน''ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน''

“ปาล์มน้ำมัน” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ถูกจับตามองในฐานะแหล่งพลังงานทดแทน กอปรกับปาล์มเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์หลายด้านทั้งอุปโภค บริโภคและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมาก ส่งผลให้ในช่วงปีที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามกำหนด แนวทางการส่งเสริมการปลูกปาล์มในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันและช่วยขจัดปัญหาความยากจน แต่เนื่องจากปาล์มเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณที่สูงมาก จึงเกิดคำถามว่าจริง ๆ แล้วพื้นที่ในภาคอีสานซึ่งยังคงประสบปัญหาภัยแล้งนั้นเหมาะสมกับการปลูกปาล์มมากน้อยเพียงไร

นายธีระพงษ์ จันทรนิยม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า
การปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสานนั้นสามารถปลูกได้ แต่ต้องคำนึงถึงสภาพดินและน้ำเป็นหลัก เนื่องจากธรรมชาติปาล์มเป็นพืชที่ชอบขึ้นในบริเวณเขตร้อนชื้น ดินคุณภาพดีมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร/ปี และมีการกระจายตัวสูงอาทิ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือบริเวณภาคใต้ของไทย ดินต้องดี และมีฝนตกตลอดปีผลผลิตจะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับ ปริมาณปุ๋ยและธาตุอาหารที่ปาล์มได้รับเป็นหลัก
แต่สำหรับภาคอีสานปัจจัยหลักของการเพิ่มผลผลิตนั้นอยู่ที่ ดินและน้ำ เช่น พื้นที่เป็นดินทรายก็จะมีปัญหาเรื่องการอุ้มน้ำอีกทั้งหากต้องประสบภาวะฝนทิ้งช่วงนาน มีช่วงแล้งยาวจะทำให้ปาล์มเกิดสภาวะการขาดน้ำ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพผลผลิตของปาล์มได้ ทั้งนี้เนื่องจากผลวิจัยใน “โครงการผลของการให้น้ำต่อการเพิ่มผลผลิตของปาล์มน้ำมัน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
ซึ่งได้ติดตามศึกษาผลของสภาวะแล้งที่มีต่อการพัฒนาปาล์มถึงระบบการให้น้ำต้นปาล์มในช่วงฤดูแล้ง โดยมีการจัดระบบให้น้ำต้นปาล์มเปรียบเทียบกับกลุ่มปาล์มที่ไม่ได้รับน้ำ พบว่า การขาดน้ำมีผลต่อการเจริญเติบโต และปริมาณผลผลิตของปาล์มโดยในสภาพที่ไม่มีฝนตกต่อเนื่อง 2-3 เดือน ในช่วงแตกใบ จะทำให้ทางใบหักต้องมีการตัดใบทิ้ง การสังเคราะห์แสงเพื่อเป็นอาหารจึงไม่เพียงพอหากช่วงแล้งเกิดขึ้นในช่วงการกำหนดเพศนั้น จะทำให้มีสัดส่วนเพศผู้มากขณะที่เกษตรกรต้องการดอกเพศเมีย ซึ่งมีปริมาณการให้น้ำมันมากกว่าสำหรับในช่วงการผสมเกสร หากเจอภาวะแล้ง จะทำให้ประสิทธิภาพ ในการผสมเกสรลดลง การพัฒนาเป็นผลน้อย ปริมาณผลผลิตที่ได้จึงลดลง เนื่องจากจำนวนผลต่อทะลายต่ำน้ำหนักทะลาย ลดลง 10-15% มีผลให้ปริมาณการผลิตผลปาล์มน้ำมันโดยรวมลดลงเหลือเพียง 2 ตัน/ไร่/ปี ในขณะปาล์มซึ่งปลูกในบริเวณที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้รับน้ำตลอดปีจะสามารถผลิตผลปาล์มได้สูงถึงประมาณ 3-3.5 ตัน/ไร่/ปี
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีหากภาครัฐยังคงมีนโยบาย การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในภาคอีสานก็สามารถปลูกได้ โดยแนะนำให้มีการเลือกพื้นที่การเพาะปลูกให้ดีดินจะต้องไม่เป็นดินทราย มีสภาวะเป็นเกลือ หรือเป็นดินลูกรังสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ มีระบบการจัดการน้ำที่ดีสามารถผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง
การติดตั้งระบบการให้น้ำปาล์มในภาคอีสาน:
ให้วางเป็นท่อยาวที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตรจากผิวดิน ควบคุมการให้น้ำให้มีความชื้นเพียง 70% หรือสังเกตได้จากการกำดินเป็นก้อนนั้นเพียงพอที่จะช่วยให้ปาล์ม มีศักยภาพในการผลิตมากที่สุด ขณะที่การให้น้ำมากเกินไปไม่เพียงสิ้นเปลือง ยังเป็นผลเสียทำให้น้ำชะปุ๋ยลงไปใต้ดินลึกมากขณะที่ราก ซึ่งทำหน้าที่ดูดอาหารจะอยู่ที่บริเวณ 15-20 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนวิธีการให้ปุ๋ยจากเดิมซึ่งใช้วิธีการหว่านให้เปลี่ยนเป็นการให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ ซึ่งทำให้ปุ๋ยสามารถละลายไปพร้อมกับน้ำลงสู่ต้นปาล์มได้รวดเร็ว โดยใช้ได้กับการให้น้ำแบบหยด หรือมินิสปริงเกิล หากระบบการให้น้ำมีการกระจายอย่างสม่ำเสมอ ธาตุอาหารก็จะกระจายทั่วทั้งแปลงดี ลดการสูญเสียจากการชะล้าง มีประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยสูง ช่วยลดต้นทุนการผลิตคุ้มค่าในระยะยาว
ผลการวิจัย “โครงการจัดการระบบการให้น้ำและปุ๋ยทางระบบน้ำเพื่อผลผลิตปาล์มน้ำมัน” โดยนายสมเกียรติ สีสนอง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่า
การให้ปุ๋ยทางระบบน้ำจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น โดยแปลงที่ให้ผลผลิตสูงสุดที่ระดับ 4.0 ตัน/ไร่/ปี ที่ต้นทุนการผลิต 0.72 บาท/กก. เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 2.72 ตัน/ไร่/ปี ที่ต้นทุน 1.52 บาท/กก. และผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศมาเลเซีย 3.01 ตัน/ไร่/ปี ที่ต้นทุนการผลิต 0.70–1.00 บาท/กก.
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดการแปลงในแต่ละปีแล้วค่าใช้จ่ายในส่วนของปุ๋ยลดลงประมาณ 45–60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ปริมาณผลผลิตและธาตุอาหารในดินและ ใบพืชยังอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ต้นทุนที่ลดลงก็สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบน้ำได้
ข้อควรพิจารณาก่อนปลูกปาล์ม:
อย่างไรก็ดีการพิจารณาว่าควรจะปลูกปาล์มในภาคอีสานหรือไม่นั้นก็ควรคำนึงถึงสภาพพื้นที่เพาะปลูกเป็นสำคัญว่า มีสภาพแล้งรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีแหล่งน้ำพอที่จะนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นปาล์มได้ตลอดฤดูแล้งหรือไม่ ที่สำคัญ ต้องพิจารณาด้วยว่าผลกำไรที่ได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นคุ้มค่ากับต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการวางระบบน้ำหรือไม่เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาในการเพาะยาวนานกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องใช้เวลาหลายปีฉะนั้นการวางแผนการปลูกปาล์มจึงมีความจำเป็น ทั้งในเรื่องของสภาพของดิน การให้ปุ๋ยและระบบการให้น้ำ เพื่อให้การปลูกปาล์มของเกษตรกรประสบผลสำเร็จมากที่สุด.

การจัดการสวนปาล์มให้ได้ผลผลิตดีตลอดทั้งปี

จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูล ของเจ้าหน้าที่ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร จ.ชุมพร ทำให้ได้พบกับสวนปาล์มน้ำมันของลุงหีต ซึ่งมีรายรับที่มากกว่าเกษตรกรท่านอื่นที่ทำสวนปาลฺมน้เทนเช่นเดียวกัน ซึ่งเคล็ดลับของรายรับที่มากขึ้นของลุงหีตก็คือ การจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่ดี ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้นกว่าเดิมเกือบเท่าตัว


ทั้งนี้เลุงหีตจึงได้เผยเคล็ดลับในการจัดการสวนปาล์มอย่างง่ายๆ กับทางทีมงานว่า เราต้องทำความเข้าใจปาล์มน้ำมันให้ถ่องแท้เสียก่อน เราต้องรู้ว่าปาล์มน้ำมันต้องการอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงค่อยดูแลให้ตรงกับความต้องการของปาล์มน้ำมัน ซึ่งลุงหีตจะยึดหลักปฏิบัติเพื่อเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันตามรายละเอียด ดังนี้
 ปาล์มน้ำมันต้องการน้ำมากแต่ต้องไม่มีน้ำขังที่โคนต้น
 คุณภาพดินต้องดี ร่วนซุย
 ปริมาณสารอาหารในดินครบถ้วน
 ระยะในการปลูกต้องเหมาะสม
 พันธุ์ปาล์มต้องดี
เทคนิคในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน :
พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ต้องเป็นพันธุ์ที่ดี สามารถซื้อจากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน (จะดีมาก)
ระยะในการปลูก ปาล์มน้ำมัน ต้องปลูกในระยะที่เหมาะสมคือประมาณ 9-10 เมตร เพราะถ้าหากว่าปลูกถี่กว่านี้จะทำให้ทะลายที่ได้เล็กไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าหากว่าปลูกห่างกว่านี้จะทำให้เสียพื้นที่และได้รับผลผลิตน้อยเช่นกัน
การตัดแต่งทางใบ ต้องมีการตัดแต่งทางใบที่ไม่จำเป็นออกให้ปีละประมาณ 3 ครั้ง (ให้เหลือทางใบประมาณ 28-30 ใบ)
การให้น้ำต้องให้น้ำตลอดในช่วงของฝนทิ้งช่วงหรือในช่วงฤดูแล้งโดยทำการขุดร่องน้ำระหว่างกลางของแถวปาล์ม ขนาดความกว้างของร่องประมาณ 50 ซม. ลึก 50 ซม. ให้ทั่วทั้งสวน หลังจากนั้นให้ทำการรดน้ำในตอนที่ฝนทิ้งช่วงประมาณ 10-15 วันต่อครั้ง ตลอดทั้งปี **สวนปาล์มน้ำมันโดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีการรดน้ำในช่วงฤดูแล้ง**
การปรับปรุงคุณภาพดินให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย
การใส่ปุ๋ยเคมี นอกจากใส่ปุ๋ยคอกแล้วต้องใส่ปุ๋ยเคมีควบคู่ไปด้วย เพราะปาล์มน้ำมันต้องการปริมาณสารอาหารสูงมากจึงต้องใส่ปุ๋ยเคมี ปีละประมาณ 3 ครั้ง โดยใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 (บำรุงผล), 21-7-35 ( , 21-0-0 (บำรุงต้น)
***ลุงหีตบอกว่าถ้าหากจัดการประเด็นดังกล่าวครบถ้วนก็จะทำให้ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตดี (ไม่ต้องเสียดายในเรื่องของการรดน้ำและใส่ปุ๋ยเพราะถึงอย่างไรก็ได้รับผลตอบแทนที่ดีแน่นอน)
ที่มา :นายประดิษฐ์ สมศรี หรือลุงหีต เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน

ข้าวแคบขนมตามเทศกาลของภาคเหนือ

   ข้าวแคบ เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งที่ทำมาจากข้าวเหนียว มีวิธีทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ แต่การทำข้าวแคบ เป็นการนำเอาแผ่นแป้งไปตากแดดให้แห้ง ทำให้สุกโดยปิ้งหรือทอด นิยมเก็บไว้รับประทานในงานเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่เมือง งานบวชลูกแก้ว งานปอยหลวง ในอดีตข้าวแคบเป็นที่นิยมทานกันทั้งลูกเด็กเล็กแดง ทั้งวัยรุ่น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เรียกว่านิยมทานกันทุกรุ่นก็ว่าได้  คุณอ้าย หัตถผสุ ผู้สืบทอดอาชีพการแปรรูปข้าวเหนียวเป็นของขบเคี้ยว

 

วัสดุอุปกรณ์การทำข้าวแคบ
1.ข้าวสารเหนียว 4 ลิตร
2.งาดำ 2 ขีด
3.เกลือป่น 1 ขีด
4.อุปกรณ์สำหรับทำข้าวเกรียบปากหม้อ
วิธีทำเตรียมแป้ง
1.แช่ข้าวสาร 1 คืน
2.โม่ข้าวสารให้ละเอียด
3.ผสมน้ำสะอาดให้พอเหลว
4.ใส่งาดำ เกลือป่น ลงไปแล้วผสมให้เข้ากัน
วิธีทำแผ่น
1.คลุมหม้อด้วยผ้าขาวบาง ตั้งน้ำให้เดือด ละเลงแป้งลงบนผ้าเป็นแผ่นวงกลม
2.พอแป้งสุก ใช้ไม้พายช้อนขึ้น
3.วางแป้งลงบนแผ่นหญ้าคา ทำต่อเรื่อยๆ จนเต็ม
4.ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1 วัน
วิธีรับประทาน
ให้นำแผ่นข้าวแคบไปทอดกับน้ำมันเดือด แล้ว รอให้เย็นก็สามารถรับประทานเป็นของขบเคี้ยวได้เลย

สูตรการทำน้ำหมักรักษาโรคขอบใบแห้ง

โรคข้าว(1)สูตรการทำน้ำหมักรักษาโรคขอบใบแห้งในแปลงนาใช้ฮอร์โมนไข่100cc
       โรคข้าว(2)ปุ๋ยโปแตสเซียม 2 ช้อนแกง น้ำเปล่า20ลิตร ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้ง

     โรคขอบใบแห้ง มักจะพบมากตั้งแต่ช่วงระยะต้นกล้าจนถึงช่วงข้าวออกรวง ลักษณะอาการจะเริ่มมีรอยช้ำสีเทาตามขอบใบและลุกลามไปตามแนวยาวของใบข้าวจากนั้นจะแห้งเป็นสีเหลือง ถ้าไม่รักษาจะส่งผลทำให้เชื้อลุกลามไปยังต้นข้าวและเหี่ยวเฉาตายไปในที่สุด

สาเหตุของโรคขอบใบแห้งที่เกษตรกรพบปัจจุบันมี 2 สาเหตุ สาเหตุแรกเกิดจากกระแสลมที่พัดแรงผิดฤดูทำให้ใบข้าวโดนลมและแห้งตามขอบใบ อาการจากสาเหตุดังกล่าวไม่รุนแรงแต่จะหายไปเองเมื่อต้นข้าวมีอายุมากขึ้น ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากเชื้อบักเตรี ซึ่งจะลุกลามอย่างรวดเร็วในระยะ 10-15 วันโดยมีน้ำในนาข้าวเป็นตัวนำเชื้อให้ลุกลามไปยังแปลงอื่นๆ ส่งผลทำให้ต้นข้าวชะลอการเจริญเติบโต ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ เป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องรีบแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับคุณวิเชียร โชติเฉลิมพงษ์ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วมีวิธีการจำกัดโรคขอบใบไหม้ ที่เกษตรกรทั่วไปสามารถทำได้โดยมีสูตร ดังนี้
ส่วนผสมที่ใช้
ฮอร์โมนไข่สำหรับพืช 100 ซีซี
ปุ๋ยโปแตสเซียม (ชนิดละลายน้ำ) 2 ช้อนแกง
น้ำเปล่า 20 ลิตร
วิธีทำและการนำไปใช้
นำฮอร์โมนไข่ ปุ๋ยโปแตสเซียมซัลเฟต ชนิดละลายน้ำผสมในน้ำเปล่า 20 ลิตร คนให้ละลายเข้ากัน จากนั้นฉีดพ่นในนาข้าวที่มีอาการของโรคขอบใบแห้ง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาการของโรคจะค่อยๆดีขึ้น และยังเป็นการบำรุงการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีกด้วย
**การทำ ฮอร์โมนไข่ใช้ไข่ไก่สดทั้งเปลือก 5 กก. + กากน้ำตาล 5 กก. + ยาคูลท์ 1 ขวด( 80 ซีซี)+แป้งข้าวหมาก 1 ลูก นำทั้งหมดบดผสมรวมกัน หมักในภาชนะปิดฝาคนทุกวันเช้า-เย็นครบ 14 วันนำมาใช้ได้

กลิ่นมะนาวช่วยลด''เครียด''


       กลิ่นมะนาว(1)โดยเฉพาะจากเปลือกช่วยลดความเครียดเป็นการใช้กลิ่นหอม
       กลิ่นมะนาว(2)แทนการใช้ยาอีกทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย

อโรมาเทอราปี (Aromatherapy) เป็นศาสตร์ของการใช้ "กลิ่นระเหย" มาช่วยดูแลสุขภาพ

ในรูปของน้ำมันระเหยที่สกัดออกมาอย่างเข้มข้น ใช้ได้ทั้งเพื่อความงาม ในรูปของเครื่องสำอาง ใช้เพื่อสุขภาพ และใช้เพื่อพิธีกรรม โดยเฉพาะเพื่อความงาม ใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูเซลล์ผิว การขับสารพิษ การระงับเชื้อ ฯลฯ เราสามารถใช้เพื่อรักษาความอ่อนเยาว์ของผิวพรรณ ซ่อมแซมรอยแผล แต้มสิว บำรุงผม หรือการลดริ้วรอยความเหี่ยวย่น โดยใช้ในรูปแบบของโลชั่น น้ำมันนวด สบู่อาบน้ำ หรือแชมพู การใช้เพื่อสุขภาพ ด้วยคุณสมบัติของการคลายกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวด การฆ่าเชื้อ ฯลฯ เราสามารถนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ลดอาการหรือช่วยบำรุงสุขภาพเราได้ทั้งทางกายและทางใจ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากความเครียด ซึ่งยาเคมีสังเคราะห์มีผลข้างเคียงสูง ขณะที่น้ำมันหอมระเหยเป็นสารธรรมชาติ มีการตกค้างและผลข้างเคียงที่น้อยกว่าหรือไม่มีเลย ทำและใช้กันมาตั้งแต่โบราณกาลทีเดียว
ยิ่ง "มะนาว" นักวิทยาศาสตร์และการแพทย์ศึกษาแล้วพบว่า กลิ่นของมะนาว โดยเฉพาะจากเปลือก ช่วยลดความเครียดได้ เป็นการใช้กลิ่นหอมทดแทนการใช้ยา น้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะนาวนี้ มีฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ผ่านทางผิวหนัง ช่วยระงับเชื้อจากบาดแผล แมลงกัดต่อย ฯลฯ รวมถึงกลิ่นมะนาวยังช่วยลดความดันโลหิตอีกด้วย

การต่อยอดมะม่วงให้ออกผลนอกฤดูกาล

มะม่วง เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานกันมาก เพราะนอกจากจะรับประทานกับแบบดิบๆ ยังสามารถรับประทานสุก หรือนำมาแปรรูป เป็นมะม่วงแผ่น มะม่วงกวน มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงดอง และใส่ในขนมต่างๆ ได้อีกด้วย มะม่วงมีหลายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำมาขยายพันธุ์ได้แก่ พิมเสนมัน แรด เขียวสวย อกร่อง น้ำดอกไม้ ฯลฯ การขยายพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธี อาจใช้การเพาะเมล็ด ปักชำ ตอน ติดตา ทาบกิ่งหรือต่อยอด โดยวิธีการเสียบยอดหรือต่อยอดสามารถทำได้ง่าย คุณภาพดี และปริมาณมาก ลงทุนน้อย และแม่พันธุ์ไม่ทรุดโทรม ด้วยเหตุนี้ คุณหนูกัน มนตรีโพธิ์ เจ้าสวนมะม่วง บ้านคำแดง ม.17 ต.เดิด อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธรที่ปลูกมะม่วงทั้งหมด 6 สายพันธุ์คือ พันธุ์เขียวเสวย พันธุ์น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น หนองแซง โชคอนันต์และมะม่วงแรด จำนวน 400 กว่าต้นให้ผลผลิตถึงปีละ 17-18 ตัน จึงเลือกวิธีการขยายพันธุ์มะม่วงในสวน โดยวิธีการต่อยอด ซึ่งการต่อยอดโดยวิธีของคุณหนูกัน จะทำให้มะม่วงสามารถออกผลได้เร็วกว่าปกติและออกผลนอกฤดูกาลได้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

 

การคัดเลือกพันธุ์
1.เลือกสายพันธุ์ที่ออกผลจำนวนมาก
2.คัดเลือกพันธุ์ที่มีความแข็งแรงและต้านทานโรคได้ดี
3.คัดเอาเฉพาะยอดที่กำลังออกดอกหรือกำลังจะผลัดใบ
วิธีทำ : ตัดยอดให้มีความยาว 6 เซนติเมตรแล้วทำการตัดเฉียงยอดพันธุ์ที่เตรียมไว้นำมาประกบกับพันธุ์ของต้นตอแล้วนำพลาสติกมาพันให้มิดชิดโดยไม่ให้น้ำและอากาศเข้าได้ ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน ยอดที่เปลี่ยนเข้าไปจะงอกขึ้นมาแทนยอดเดิมแล้วจึงแกะพลาสติกที่หุ้มไว้ออก
ประโยชน์ :
-สามารถเลือกสายพันธุ์ของกิ่งพันธุ์ได้
-กิ่งพันธุ์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนยอดจะสามารถออกผลได้เร็วกว่าปกติและออกผลนอกฤดูกาลได้
ขอบคุณข้อมูลจาก “ไร่มณทิรา” บ.คำแดง ม.17 ต.เดิด อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร

การทำแยมมะม่วง

มะม่วงเป็นไม้ผลที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย สามารถปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด และทุกสพภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เละเป็นผลไม่ที่คนไทยทุกเพศทุกวัยรู้จักกันดี มีให้บริโภคกันตลอดทั้งปี แต่ผลผลิตจะออกสู่ท้องตลาดมากในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีมะม่วงออกมามากที่สุด บางครัวเรือนถึงกับบริโภคไม่ทัน จำต้องหาวิธีการแปรรูปเก็บไว้ทาน ซึ่งหนึ่งในการแปรรูปผลผลิตมะม่วง ก็คือ การนำมาทำเป็นแยม ซึ่งได้รสชาติที่อร่อยและเป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้มีมากขึ้นด้วย


ส่วนผสมสำหรับการทำแยมมะม่วง :

- มะม่วงสุกบดละเอียด 3 ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วยตวง
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ (หรือ กรดมะนาว ก็สามารถใช้ได้)
- เกลือ 1 ช้อนชา
วิธีการทำแยมมะม่วง :
1. ผสมมะม่วงสุก น้ำมะนาว เกลือ ในสัดส่วนดังกล่าว คนให้เข้ากัน เติมน้ำตาลทรายทีละน้อย คนส่วนผสมอยู่ตลอดเวลาจนน้ำตาลละลายหมด
2. ตั้งไฟปานกลาง เพิ่มไฟให้แรงขึ้นจนส่วนผสมเดือด ช้อนฟองทิ้ง คนตลอดเวลา ระวังอย่าให้ติดกระทะ หรี่ไฟลง คนจนข้นยกลง
3. บรรจุแยมลงในขวดที่ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้ว
*** เมื่อเย็นแล้วอย่าทิ้งไว้นานเกิดไปเพราะจะทำให้ตกผลึกแข็ง การเก็บแยม ควรใส่ในขวดปากกว้างที่ล้างและต้มในน้ำเดือดประมาณ 15 - 20 นาที ปิดฝาให้แน่น

การปลูกถั่วพร้าบำรุงดินในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน

  เนื่องจากสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราโดยส่วนมากจะเป็นแบบพืชเชิงเดี่ยว ประกอบกับการใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ดินเสื่อมสภาพ อินทรียวัตถุในดินก็มีน้อยส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ก็ลดลงตามไปด้วย การฟื้นฟูสภาพดินจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร ซึ่งการฟื้นฟูสภาพดินสามารถทำได้หลายวิธี การปลูกถั่วพร้า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพดิน ซึ่งมีวิธีง่ายๆดังนี้

วิธีการฟื้นฟูสภาพดินในสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราด้วยถั่วพร้า
•ทำการไถพรวนพื้นที่ระหว่างร่องของต้นปาล์มน้ำมันหรือต้นยางพารา ( ควรเริ่มต้นในช่วงของต้นฤดูฝนเนื่องจากมีน้ำเพียงพอทำให้ถั่วพร้าเจริญเติบโตได้ดี )
•ทำการตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน
•ทำการหว่านเมล็ดถั่วพร้าให้ทั่วทั้งแปลง ในปริมาณ 10 กก./ไร่
•นำดินมากลบบางๆให้พอมิดเมล็ดถั่ว
•ให้ปล่อยทิ้งไว้จนต้นถั่วพร้าออกดอกจึงทำการตัดด้วยเครื่องตัดหญ้าให้หมดทั้งแปลง
•ต้นของถั่วพร้าจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย
•หรือนำต้นถั่วพร้าและเศษพืชต่างมาทำเป็นปุ๋ยหมักแล้วค่อยนำไปใส่ในสวนก็ได้

ข้อดีของการฟื้นฟูสภาพดินในสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราด้วยถั่วพร้า
•ทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น ดินมีความร่วนซุย
•ถั่วพร้าสามารถเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดินได้ประมาณ 30 กก./ไร่
•ต้นยางพารา และต้นปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
•ดินมีความชุ่มชื้นมากขึ้นเนื่องจากถั่วเป็นพืชคลุมดินรักษาความชื้นได้ดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นายจิรศักดิ์ เศรษสระ บ้านเขาน้อย ม.8 ต.นากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โทร.081-6766271

ต้นพญาคชราช ไม้เศรษฐกิจ โตเร็ว มาแรง

พญาคชราช(Payakocharach) เป็นชื่อใหม่ของต้น ปอหู ที่ตั้งขึ้นโดย นายชูพงศ์วรินทร์ ซุ้นสุวรรณ ประธานโครงการประเทศสีเขียว ซึ่งพญาคชราชเป็นชื่อที่เป็นมงคล ตามที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคลสายพันธุ์หนึ่ง และ เพื่อนำมาใช้เรียก เฉพาะในโครงการประเทศสีเขียวนั้น เนื่องจากอาจมีการเข้าใจผิดโดยการนำเอาไม้ชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่คุณสมบัติแตกต่างกันมาใช้เรียกว่าเป็นต้นพญาคชราช  

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น(Stem) พญาคชราช เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูง 15-30 เมตร (สำหรับในประเทศไทยต้น พญาคชราช โตเต็มที่ ที่พบในป่าธรรมชาติมีขนาดโตทางเส้นรอบวงเพียงอกประมาณ 280 ซม. สูงประมาณ 27 เมตร) ผลัดใบและผลิใบใหม่พร้อมกับดอก ลำต้นเปลาตรง โคนเป็นพูพอน
เรือนยอด เป็นพุ่มทรงกลมหรือรูปกรวย กิ่งตั้งฉากกับลำต้น ส่วนใหญ่ลำต้นเปลาตรง มีการผลิใบใหม่พร้อมกับดอกตามธรรมชาติ
เปลือก(Bark) สีน้ำตาลอมเขียวอ่อน มีมีเทาแต้มเป็นรอยด่างและมีรอยย่นกระจายทั่วไป เปลือกเป็นเส้นใยสีน้ำตาลแดง
ใบ (Leaf) เป็นชนิดใบเดี่ยว (Simple leaf) ออกเรียงเวียนสลับกัน รูปหัวใจ มีขนาดประมาณ 5-12 x10-24 ซม.โคนหยัก เว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อค่อยข้างหนา และมีขนนุ่มทั่วไป ใบแก่ ผิวใบเกลี้ยง หน้าใบเข้ม หลังใบเขียวอ่อน และ จะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นแขนงใบ มี 7-14 คู่เห็นชัดทั้งสองด้าน
ดอก(Flower) เป็นชนิดช่อแบบ Raceam สีส้มอ่อนๆ หรือเหลืองอ่อนๆ ออกเป็นช่อ เป็นพวงสั้นๆ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง
ผล(Fruit) เป็นชนิดผลเดี่ยว เป็นประเภทผลแห้งแบบ Nut รูปทรงกระสวยเกลี้ยง ๆ เป็นผลชนิดปีกเดียว ลักษณะปีกเป็นกาบบางสีแดงเรื่อๆ เป็นกระโดงโค้งยาวแระมาณ 10 ซม. หุ้มส่วนหนึ่งของผล ดูคล้ายใบเรือ
เมล็ด (Seed) มี 1 เมล็ด เมื่อแกะเปลือกและขนอ่อนๆ รอบเมล็ดออกจะเห็นเมล็ดสีน้ำตาล รูปร่างคล้ายเงินจีนขนาด 0.35 x 0.55 ซม. เมล็ดแห้งหนัก 1 กิโลกรัม มีจำนวนเมล็ดประมาณ 20-30 ล้านเมล็ด

ปัจจัยควบคุมการเจริญเติบโตของต้นพญาคชราช :
1. ปริมาณน้ำฝนและความชื้นของดิน ต้นพญาคชราชสามารถขึ้นได้ตามธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำฝนรายปี 1,000 – 5,000 มล. แต่ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นพญาคชราช คือ 1,500-5,000 มล. มีช่วงฤดูแล้งไม่เกิน 3 เดือน ส่วนต้นพญาคชราชที่ขึ้นในที่แห้งแล้งจะแคระแกร็น มีรูปร่างที่เป็นพุ่ม มีการเจริญเติบโตน้อย ในทางตรงกันข้ามในพื้นที่ที่มีความชันสูงมาก ต้นพญาคชราช จะมีขนาดใหญ่และสูงมาก ซึ่งความใกล้ไกลจากแหล่งน้ำจะมีผลต่อปริมาณความชื้นในดินด้วย
2. อุณหภูมิและปริมาณความชื้นในบรรยากาศ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของต้น พญาคชราช ซึ่งสามารถจะพบต้น พญาคชราช ได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 15-35 องศาเซลเซียส ปริมาณความชื้นในบรรยากาศไม่ต่ำกว่า 80% น้ำค้างแข็ง มีอิทธิพลต่อต้นพญาคชราช โดยจะทำอันตรายต่อส่วนที่อวบน้ำของต้น เช่น ยอด ใบอ่อน และ เยื่อเจริญของเปลือก จะทำให้เกิดการตายจากยอดลงมา
3. แสง ต้นพญาคชราช ต้องการแสงมากและไม่ทนร่ม ความเข้มแสงที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของต้นกล้าพญาคชราช จะอยู่ระหว่าง 75-94% ของปริมาณแสง และถ้าได้รับคามเข้มของแสงน้อยกว่านี้ในเวลากลางวัน จะทำให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งของลำต้น ลดลง
การปลูก :
ต้นพญาคชราชเป็นไม้โตเร็ว ประกอบกับมีเรือนยอดแผ่กว้างตั้งฉากกับลำต้น ระยะปลูกที่เหมาะสมจึงไม่ควรน้อยกว่า 3 x 3 เมตร หรือความหนาแน่นของหมู่ไม้ไม่ควรเกิน 182 ต้นต่อไร่ หากปลูกในระบบวนเกษตร ควรใช้ระยะปลูก 3 x 3 , 3 x 6, 4 x 6 หรือ 6 x 6 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชคบคุม และจำนวนปีที่ต้องการปลูกพืชแทรก
ตามที่ต้นพญาคชราชสามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน แต่หากเป็นดินทราย ดินลูกรัง หรือ ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ควรเพิ่มระบบการให้น้ำในระยะแรกของการปลูกด้วย สำหรับระยะห่างการปลูกต้นกล้าควรเป็น 4 x 4 เมตร (100 ต้น/ไร่ ) เมื่อต้นไม้มีอายุได้ประมาณ 7 ปี ก็ยังจะมีพื้นที่ให้รถและเครื่องจักรกลเข้าไปตัดต้นไม้ได้ (หากปลูกมากกว่าน้ำลำต้นจะมีขนาดเล็กลง)
การบำรุงและการดูแลรักษา :
เนื่องจากต้นพญาคชราช เป็นไม้โตเร็วและพบรายงานความเสียหายที่เกิดจากโรคและแมลงน้อยมาก การบำรุงและดูแลรักษาจึงไม่ยุ่งยาก แต่ควรหาวิธีป้องกันไม้ให้สัตว์เลี้ยงที่กินพืชเข้าไปรบกวนในแปลงปลูก เพราะอาจเข้าไปกัดกินยอดและใบ หรือ เหยียบทำลายได้ อย่างไรก็ตามในช่วงแรกควรให้ปุ๋ยและสร้างไม้ค้ำยัน ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกของการปลูก ต้องมีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอดังนี้
- ระยะ 1-6 เดือนแรกของการปลูก ให้ปุ๋ยเดือนละ 2 ครั้ง
- ตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี ให้ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง
เมื่อพ้น 1 ปี ต้นไม้จะแข็งแรงเพียงพอที่จะเติบโตได้เองตามธรรมชาติ เกษตรอาจให้ปุ๋ยบำรุงต้นเพิ่มเติมเพียงปีละ 1 ครั้ง และควรมีการปลูกซ่อมแซม ปราบวัชพืช ทำแนวกันไฟ การชิงเผาเพื่อลดเชื้อเพลิง แลการตัดสางขยายระยะ เพื่อส่งเสริมการเจริญเตอบโตของไม้ที่เหลือ

อัตราการเจริญเติบโต :
อัตราการเจริญเติบโตของต้นพญาคชราช ในระยะแรก ๆ อาจช้า แต่ต่อมาจะเร็วมาก ภายหลังจากย้ายปลูกแล้ว 1 ปีอาจสูงถึง 3 เมตร อัตราการเจริญเติบโตทางความสูงโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 2-3 เมตร/ปี ติดต่อกันไปนาน 6-8 ปี การเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3-7.6 ซม./ปี
ลักษณะและประโยชน์ของต้นพญาคชราช :
1. หลังปลูกได้ 1-2 ปี ความสูงอยู่ระดับ 6-10 เมตร ขึ้นอยู่กับการดูแล จะนำเปลือกไม้ไปทำเป็นเชือกปอ ส่วนเนื้อไม้เอาไปทำดอกไม้จันทน์ และ ถ้ามีอายุมากกว่านี้แก่นของไม้จะเริ่มแข็งขึ้น
2. หลังปลูกได้ 5-7 ปี เส้นรอบวงอยู่ที่ประมาณ 100-120 เซนติเมตร สูงไม่ต่ำกว่า 14 เมตร และจะมีแก่นลายไม้สีน้ำตาลเข้ม ลักษณะเนื้อไม้คล้ายไม้พะยูงหรือไม้สัก เนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน กรอบและบานหน้าต่าง งานกลึงแกะสลักทำพื้นและฝาที่ใช้งานในที่ร่ม (**กรณีที่ใช้งานภายนอกควรใช้เนื้อไม้ที่มีอายุมากและควรใช้สารเคลือบไม้เพื่อเพิ่มความทนทาน) ใช้ทำไม้อัดพาร์ติเคิลบอร์ด วีเนียร์ ทำกระดานไม้ฝา
**สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ “โครงการประเทศสีเขียว" 0-2917-4760-61 www.greencoun.com

เทคนิคการเปลี่ยนเพศมะละกอและทำให้มีลูกดก

ในสมัยก่อนการปลูกมะละกอไว้หลังบ้านๆ ครอบครัวละต้นสองต้น เกษตรกรจะแสวงหาพันธุ์ที่ให้ลูกยาวเท่าแขนถึงแม้ต้นหนึ่งๆ ให้ลูกเพียง 3-4 ลูก ก็พอใจ ใครเห็นใครชม แต่ปัจจุบันนี้ครับการทำสวนมะละกอก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้อย่างดี ดังนั้นเกษตรกรจะต้องชื้อปุ๋ยและฮอร์โมนมาฉีดเร่งให้มะละกอ มีลูกดก

คุณพ่อสมพงษ์ ญาติบำเรอ เกษตรกรบ้านสวนสวรรค์มีเคล็ดลับในการเปลี่ยนเพศมะละกอฝให้เป็นต้นกระเทย และติดลูกดกได้อีกด้วย โดยเริ่มจากการเตรียมดินให้มีความอุดมสมบรูณ์ก่อน และก่อนย้ายกล้าที่เพาะไว้ลงปลูกในแปลง คุณพ่อจะใช้ภูมิปัญญาเก่าๆ ที่สืบทอดกันมาทำให้มะละกอเป็นต้นกระเทยเสียก่อน โดยการตัดรากแก้วออกให้เหลือประมาณ 2 ข้อมือ แล้วนำต้นมะละกอลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ วิธีนี้นอกจากจะทำให้มะละกอติดลูกดกแล้ว ยังทำให้มะละกอโตเร็ว เก็บผลผลิตได้เร็วขึ้น 1 เดือน ทั้งยังติดลูกดกทุกต้นด้วย

การขยายพันธุ์มะละกอด้วยการตอนกิ่ง

เกษตรกรส่วนใหญ่จะซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอที่มีคุณภาพดีจากท้องตลาด มาปลูกโดยวิธีการเพาะเมล็ด แต่หลังจากที่ได้ผลผลิตรุ่นแรกแล้ว เกษตรกรจะไม่สามารถนำเมล็ดจากมะละกอที่ปลบูกได้ในรุ่นแรกมาขยายพันธุ์ต่อได้  เนื่องจากทางบริษัทที่เราไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาได้ควบคุมไม่ให้ขยายพันธุ์ได้นั่นเอง หากเกษตรกรจะทำการปลูกใหม่จำต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่มาปลูก ดังนั้นคุณคำนึง นวลมณีย์ และโรงเรียนบ้านหว้าหลัง จึงได้คิดค้นหาวิธีการ ทำให้มะละกอขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องใช้เมล็ดโดยการตอนกิ่ง ซึ่งมะละกอที่ได้จากการตอนกิ่งจะมีลักษณะดังนี้ 
  - มะละกอที่ได้จะมีขนาดลำต้นที่เตี้ย 
  - มะละกอจะไม่กลายพันธุ์ 
  - ลักษณะของเนื้อและผลของมะละกอจะมีรสชาติคงเดิม

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่งมะละกอ :
1.ดินร่วน
2.ขุยมะพร้าว
3.ยางหรือเชือกฟาง
4.มีด
5.ถุงพลาสติก
วิธีการตอนกิ่งมะละกอ :
เตรียมต้นพันธุ์มะละกอ (ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน)
1.ให้นำดินร่วนผสมกับขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 3:1 มาผสมให้เข้ากัน
2.นำดินที่ผสมแล้วใส่ในถุงพลาสติกขนาด 3*5 นิ้ว
3.เลือกต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์
4.ใช้มีดเฉือนกิ่งพันธุ์ จากข้างล่างขึ้นข้างบน
5.ใช้ลิ่มไม้เสียบเข้าไปในบริเวณที่เฉือนเพื่อไม่ให้เนื้อไม้ติดกัน
6.นำดินที่ใส่ในถุงกรีดกรีดถุงยาวพอสมควร รดน้ำให้ชุ่มแล้วไปวางทับกับรอยที่เฉือนกิ่งเอาไว้
7.ผูกเชือกให้แน่น
8.เฉือนท่อน้ำเลี้ยงห่างลงมาจากกิ่งตอน ประมาณ 3-5 นิ้ว เพื่อเป็นการตัดท่อลำเลียงธาตุอาหารและน้ำ เมื่อขาดธาตุอาหาร ขาดน้ำ จะทำให้รากของมะละกองอกออกมาเร็วขึ้น
9.ในระยะเวลา 30-45 วันรากของมะละกอก็จะออกรากออกมา ซึ่งเราสามารถตัดนำไปปลูกได้แล้ว

เพิ่มจำนวนต้นผักหวานด้วยวิธีการทุบราก

ความสำเร็จในการขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยวิธีการ “ทุบราก” ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของคุณพ่อทองมาก พงษ์ละออ เกษตรกร บ้านนาข่า ต.นาข่า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ได้อาศัยประสบการณ์ในการขยายพันธุ์ผักหวานป่ามานานหลายปี  สามารถขยายพันธุ์ผักหวานป่าในพื้นที่ให้มีจำนวนมากกว่า 300 ต้น ได้ภายในเวลาไม่นาน  และสามารถเก็บยอดขายได้ในราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท มีรายได้ปีละกว่า 40,000 บาท

วิธีการพิ่มจำนวนต้นโดยการทุบราก :
พ่อทองมาก ได้พบวิธีการขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยด้วยภูมิปัญญาและประสบการณ์กว่าค่อนชีวิตที่ผูกพันอยู่กับการเพาะปลูกผักหวานผ่า นั่นคือ การใช้ค้อนหรือสันมีดทุบบริเวณรากผักหวานที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน ให้เกิดบาดแผล จากนั้นจึงเอาดินกลบไว้ให้มิด แล้วหาไม้มาปักไว้บริเวณนั้น เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายและป้องกันการเหยียบย่ำ จากนั้นรอเวลาประมาณเดือนเศษๆ จะมีต้นผักหวานเกิดขึ้นมาใหม่บริเวณบาดแผล ดังนั้นการทุบรากผักหวานป่าบริเวณที่รากโผล่พ้นผิวดินจึงทำให้มีจำนวนต้นผักหวานป่า เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

การปลูกผักบนต้นกล้วย

วิธีการปลูกผักบนต้นกล้วย : มีดังนี้
วัสดุ - อุปกรณ์ :
1. เมล็ดพันธุ์ผัก ประเภท กินใบ อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ผักกาดหอม(ไม่ห่อหัว) จำพวกผักสลัด
2. กระบะเพาะกล้า หรือ ตะกร้าสี่เหลี่ยมผืนผ้า
3. ถาดหลุมพลาสติก
4. กระดาษหนังสือพิมพ์
5. ขี้เถ้าแกลบ,ทราย
6. ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก
วิธีการปลูกผักบนต้นกล้วย :
1. การเพาะกล้า
- ปูประดาษหนังสือพิมพ์(แผ่นเดี่ยว)บนตะกร้าพลาสติก แล้วจัดกระดาษให้เข้ารูปกับตะกร้า
- ใส่ทรายลงไปในตะกร้าที่เตรียมไว้ให้ได้ความสูงประมาณ 2 ใน 3 ของความสูง
- ขีดทรายตามแนวยาวของตะกร้าให้เป็นร่องลึกประมาณ 1 ซม. 2-3 แถว โรยเมล็ดพันธุ์ผักลงไปบางๆ แล้วกลบเบาๆ ด้วยทราย จากนั้นนำกระดาษหนังสือพิมพ์(แผ่นเดี่ยว)วางปิดทับด้านบน พร้อมจัดกระดาษให้เข้ารูปกับตะกร้า
- ใช้บัวรดน้ำ ลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ (พอให้มีน้ำขังบนผิวหน้าเล็กน้อย) จัดวางตะกร้าไว้ในที่ร่ม หมั่นรดน้ำเช้า-เย็น
- เมื่อกล้าผักเริ่มงอก ให้เอากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปิดทับด้านหน้าออก แล้วรดน้ำเช้า - เย็น
- เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริงใบแรก หรือ เมื่อมีอายุประมาณ 10-14 วัน ให้ย้ายกล้าในกระบะเพาะลงปลูกในถาดหลุมพลาสติก
2.การย้ายกล้าผักลงปลูกในถาดหลุม :
- นำขี้เถ้าแกลบผสมเข้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักพอใส่ลงถาดหลุมให้เต็มทุกหลุม จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
- ใช้ไม้แทงนำในขี้เถ้าแกลบให้เป็นรู เพื่อนำต้นกล้าลงปลูก
- ใช้มือจับยอดต้นกล้าผักเบาๆ แล้วนำไม้ขุดแซะรากกล้าผักขึ้นมาจากกระบะเพาะ จากนั้นแยกกล้าลงปลูกในหลุมถาดที่เตรียมไว้ กดปิดบริเวณรูเบา ๆ ทำจนครบทุกหลุมแล้วจัดเรียงถาดหลุมที่ย้ายกล้าเสร็จแล้วไว้ในที่ร่มรำไร พอมีแสงส่องถึง จัดวางไว้บนชั้นให้น้ำไหลผ่านได้โดยสะดวก
- เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบหรือประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังปลูก ก็สามารถย้ายกล้าผักไปปลูกบนต้นกล้วยได้แล้ว
3. การปลูกผักลงบนต้นกล้วย :
- เจาะรูบนต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว โดยกะจำนวนรูที่จะปลูกผักให้เหมาะสมกับขนาดของต้นกล้วย ในลักษณะทแยงลง ให้รูมีขนาดเท่ากับแท่งดินที่ยึดรากต้นกล้าผัก
- จากนั้นจึงเอาต้นกล้าผักยัดใส่ลงไปในรูของต้นกล้วยที่เจาะไว้
- คอยค้ำยันไม่ให้ต้นกล้วยล้ม
- ประมาณ 30 วันก็สามารถเก็บผักที่ปลูกบนต้นกล้วยมารับประทานได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผักที่ปลูก)

การผลิตน้อยหน่านอกฤดู

น้อยหน่า จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกได้ดีพอควร  ทั้งนี้เนื่องจากรูปร่าง  สีสัน  และรสชาติ  ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภค  และเป็นที่ต้องการของตลาด  ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ แหล่งปลูกน้อยหน่าในประเทศที่สำคัญอยู่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ  โดยเฉพาะอำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมานั้นจัดได้ว่าเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุด  ส่วนในภาคอื่น ๆ  มีการปลูกน้อยหน่ากันบ้าง  แต่เป็นการปลูกเพื่อใช้บริโภคภายในครัวเรือนเสียมากกว่า  

การปลูกน้อยหน่าในปัจจุบันนี้ได้รับการพัฒนาไปมาก ทั้งทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จนทำให้น้อยหน่าที่ปลูกในระยะหลังนี้มีผลโต เนื้อมาก เมล็ดน้อย รสชาติหวานอร่อย และที่สำคัญก็คือสามารถบังคับให้น้อยหน่าออกดอกนอกฤดูกาลได้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
วิธีการบังคับให้น้อยหน่าออกดอกก่อนฤดูปกติ :
วิธีนี้เหมาะกับสวนที่มีระบบการให้น้ำดีและมีน้ำใช้ตลอดปี หากมีน้ำไม่เพียงพอหรือระบบการให้น้ำไม่ดี การบังคับให้น้อยหน่าออกดอกก่อนฤดูจะไม่ได้ผล วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถกำหนดช่วงการแก่และเก็บผลได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการให้ผลแก่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้อยหน่าออกมาขายในตลาดน้อย และมีราคาสูงเราสามารถกระทำได้โดยปฏิบัติเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.เดือนสิงหาคม บำรุงให้ต้นน้อยหน่าสมบูรณ์โดยใส่ปุ๋ยเกรด 1 : 3 : 3 เช่นสูตร 8-24-24 พร้อมกับให้น้ำ ต่อจากนั้นก็ปล่อยให้พักตัวประมาณ 1 เดือน
2.เดือนกันยายน ทำการตัดแต่งกิ่งทันที โดยกิ่งที่ทำการตัดแต่งนั้นควรเป็นกิ่งที่อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 ½ -2 เมตร ขนาดของกิ่งถ้าเล็กกว่า ½ ซม. ควรตัดออกให้หมดแต่ถ้ามีขนาดใหญ่กว่า ½ ซม. ให้ตัดเหลือปลายกิ่งไว้ประมาณ 15 ซม. หากปลายกิ่งใดมีสีเขียวอยู่ก็ให้ตัดออกให้หมด เหลือเพียงกิ่งสีน้ำตาลไว้เท่านั้นและหากมีกิ่งกระโดงหรือกิ่งแขนงที่แตกใกล้ระดับพื้นดินต้องตัดออกให้หมดเช่นกัน
3.ปลายเดือนกันยายน หลังจากทีได้ตัดแต่งกิ่งไปแล้วประมาณ 20 วัน ต้นน้อยหน่าเริ่มแตกใบอ่อนและออกดอกมาให้เห็น ช่วงนี้ควรมีการให้น้ำตามปกติ
4.เดือนตุลาคม ประมาณ 31-45 วันต่อมาดอกจะบาน ส่วนการให้น้ำก็ปฏิบัติเช่นเดิม
5.เดือนพฤศจิกายน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโตเต็มที่
6.เดือนธันวาคม เมื่อผลมีขนาดโตเท่าไข่ไก่ควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-13 เพื่อให้ผลมีคุณภาพดีขึ้น
7. เดือนกุมภาพันธ์ ผลแก่สามารถเก็บไปจำหน่ายได้ ซึ่งตรงกับช่วงที่น้อยหน่ามีราคาแพงพอดี
หากไม่ใช้วิธีตัดแต่งกิ่งอาจใช้สารเคมีแทนก็ได้โดยใช้สารเคมีพวกพาราควอท (ชื่อการค้าว่า กรัมม๊อกโซน , น๊อกโซน, แพลนโซน) ให้ใช้ในอัตราความเข้มข้น 0.05-0.1 เปอร์เซ็นต์ (ของเนื้อสาร) ในปริมาณ 41-82 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น จะทำให้ใบร่วงหมดภายในเวลา 7-10 แต่การฉีดสารเคมีนี้ต้องระวังไม่ฉีดในขณะที่ต้นน้อยหน่าแตกกิ่งหรือใบอ่อน เพราะจะทำให้กิ่งหรือใบไหม้ได้
การบังคับให้น้อยหน่าออกดอกในฤดูปกติและหลังฤดูปกติอีกบางส่วน :
การปฏิบัติเหมือนกับที่ทำในฤดูปกติ คือจะตัดแต่งกิ่งในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และเลือกตัดแต่งกิ่งที่ไม่มีผลติด ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 5 ม.ม. และจะติดผลประมาณเดือนเมษายน ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคมจะทำการตัดแต่งกิ่งอีกครั้ง โดยทำการตัดปลายกิ่งออกเฉพาะช่วงที่มีสีเขียวและให้เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นสีน้ำตาลปนเขียว หลังจากนั้นให้รูดใบของกิ่งที่ตัดออกให้หมด กิ่งพวกนี้จะแตกใบใหม่พร้อมกับมีดอกออกมาอีก 1 รุ่น ซึ่งนุร่นที่ 2 นี้จะเก็บผลขายได้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีผลไม้อื่นออกมามากนักเลยทำให้ขายได้ราคาสู
การทำให้น้อยหน่าออกดอกหลังฤดูปกติอีกครั้งหนึ่งนั้น ควรมีการใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เช่น ปกติใส่ปุ๋ยคอกต้นละ ½ - 1 ปี๊บ ควรเพิ่มปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 อีกต้นละ 2 กก. จะช่วยให้ผลน้อยหน่ามีขนาดใหญ่และคุณภาพของผลดียิ่งขึ้น

 

สาหร่ายสไปรูลิน่า บนแผ่นดินร้อยเอ็ด

algae

 

บนผืนดินอีสานตอนกลาง อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ใน 17 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ ถือว่าเป็นอำเภอที่แห้งแล้งที่สุด นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำยุทธศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ด "แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดี ที่ท่องเที่ยวมากแห่ง แรงงานมีคุณภาพ" พัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการประสานงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ค้นหาค้นคว้าภูมิปัญญาของคนเมืองร้อยเอ็ด หามาเพิ่มเติมให้เต็ม อำเภอศรีสมเด็จ เป็นอำเภอที่แปลกและเป็นดินแดนที่มหัศจรรย์ พื้นที่ดินร่วนปนทรายถึงทรายจัด เกษตรกรที่อำเภอศรีสมเด็จ นำพืชต่างถิ่นมาปลูกทดแทนพืชที่มีอยู่ดั้งเดิมจนเป็นรายได้หลัก อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง แตงแคนตาลูป แตงโซโย่ และพืชมหัศจรรย์อย่างยาสูบพันธุ์เตอร์กิ๊ส ที่สร้างรายได้ปีละนับร้อยล้านบาท
นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก บนพื้นฐานที่มีแรงงานที่มีคุณภาพ และควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม บริษัท เฟิสท์ ไลน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย นายคงพร พรรณ์แผ้ว กรรมการผู้จัดการ และ นางมะลิวัลย์ พรรณ์แผ้ว เป็นผู้ที่นำกิจกรรมการสร้างเงินสร้างงานเพื่อชาวบ้าน คือการเลี้ยงสาหร่าย "สไปรูลิน่า" ที่บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 13 ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นงานกึ่งการทดลองกึ่งวิทยาศาสตร์ บนความสำเร็จเพียงระยะเวลาสั้นๆ คือ 10 วัน สามารถได้เงินหลายแสนบาท ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรร่วมกิจกรรม 12 คน

ครั้งนี้ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่บ้านก่อ หมู่ที่ 13 ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวอำเภอเพียง 700 เมตร นายคงพร และ นางมะลิวัลย์ พรรณ์แผ้ว เล่าในรายละเอียดให้ฟังว่า

ตนเองมองเห็นความสำคัญของสาหร่าย "สไปรูลิน่า" ซึ่งเป็นสารสกัดจากสาหร่ายเพื่อบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะสามารถลดน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ตนเองตัดสินใจเพาะเลี้ยง "สาหร่ายเกลียวทอง" สไปรูลิน่า เพื่อขายให้นายทุนจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เปิดรับสมาชิกและชักชวนเพื่อนบ้านกว่า 12 คน ตั้ง "กลุ่มสาหร่ายเกลียวทอง" เมื่อปี 2534 เพื่อผลิตและส่งไปจำหน่ายที่ตลาดกรุงเทพฯ ลำปาง และเชียงใหม่ พร้อมทั้งนำสาหร่ายมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ขายด้วย ตลาดมีการตอบสนองดีมากไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นายคงพร กล่าวอีกว่า สมาชิกที่ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มาด้วยความสมัครใจในการจัดตั้งกลุ่ม ด้านการตลาดสาหร่ายเกลียวทองยังเป็นที่ต้องการสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำเป็นอาหารสัตว์เศรษฐกิจ เช่น อาหารกุ้งกุลาดำ ปลามังกร ปลาเมอรี่ ปลาอโรเวนา และปลาสวยงามชนิดต่างๆ และบางส่วนจะมีนายทุนซื้อไปสกัดเอา "สไปรูลิน่า" ก่อนนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ได้อีกหลายชนิด หลังจากได้รวมกลุ่มกันแล้ว มีการแบ่งระบบการทำงาน ได้จัดรูปแบบการบริหารกลุ่ม โดยตนเอง และนางมะลิวัลย์ ภรรยา เป็นผู้คอยดูแลเรื่องตลาด และตรวจสอบคุณภาพสาหร่ายให้กับสมาชิก หรือเป็นผู้อำนวยความสะดวก นัยหนึ่งคือคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิกของกลุ่มเพราะงานด้านการผลิตเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน การจัดการสมาชิกมีการเลี้ยงสาหร่ายด้วยตัวเองแบบการปฏิบัติจริง โดยให้สมาชิกมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน

นางมะลิวัลย์ เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองนั้น ในแต่ละวันสมาชิกจะใช้เวลามาเลี้ยงสาหร่ายเพียงแค่ครึ่งวัน ส่วนเวลาที่เหลือสามารถไปประกอบอาชีพด้านอื่นได้ ถือว่าการเลี้ยงสาหร่ายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแต่ใช้เวลาน้อยนิด เสริมอาชีพภาคการเกษตรที่ปฏิบัติได้ตามปกติ "ตอนนี้ให้สมาชิกเลี้ยงสาหร่ายเป็นของตัวเอง การตลาด ตนเองและภรรยาจะรับซื้อจากสมาชิกในราคากิโลกรัมละ 100 บาท จากนั้นจะนำไปขายต่ออีกครั้ง ส่วนเหตุผลที่ต้องรับซื้อจากสมาชิกเพียงกิโลกรัมละ 100 บาทนั้น เนื่องจากสมาชิกทุกคนไม่ได้ลงทุนอะไร เพียงแต่ใช้แรงกายในการดูแลเลี้ยงสาหร่ายเท่านั้น ถือว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านก่ออย่างต่อเนื่อง"

ขั้นตอนการเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า หรือสาหร่ายเกลียวทอง เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากนัก ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองนั้น เริ่มต้นที่การขุดบ่อคลุมด้วยผ้าพลาสติกในพื้นที่กลางแจ้ง ขณะนี้พื้นที่มี 30 บ่อ เป็นบ่อขนาด 4 x 20 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร เป็นบ่อเลี้ยง บ่อพักน้ำ ขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร เพื่อปล่อยน้ำสะอาดใส่คลอรีนพักไว้ 3-5 วัน อาหารจำพวกมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก สารโซเดียมคาร์ไบคาร์บอเนต โซเดียมไตรฟอสเฟต โพแทสเซียมไตรฟอสเฟต สารสกัดชีวภาพ ปุ๋ย เอ็นพีเค สูตร 16-16-16 จำนวน 15 กิโลกรัม ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง ระดับน้ำที่สูบจากหนองน้ำธรรมชาติเพียงพอตลอดทั้งปี เมื่อการเตรียมบ่อน้ำมีอาหารพร้อมก็ใส่พันธุ์สาหร่ายเกลียวทอง ที่คัดสรรคุณภาพความสมบูรณ์เอาไว้ผสมลงไปในบ่อน้ำในอัตราน้ำ 50 ตัน ต่อสาหร่าย 25 ตัน แล้วกวนน้ำด้วยเครื่องจักรหรือกังหันน้ำ ที่ทำขึ้นมาใช้งานเฉพาะเวลากลางวัน เพื่อให้สาหร่ายผสมกับอาหารและได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง สาหร่ายเจริญเติบโตเต็มที่มีสีเขียวเข้มปนสีน้ำเงิน ใช้เวลาประมาณ 10 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแสงแดดด้วย

นางมะลิวัลย์ กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวสาหร่ายสไปรูลิน่า หรือสาหร่ายเกลียวทอง จะมีการดูดน้ำสาหร่ายในบ่อขึ้นไปกรองผ่านผ้าขาวบางแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดนำมาผึ่งให้แห้งที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส การเก็บสาหร่ายภายในบ่อจะเก็บเพียง 3 ใน 4 ส่วนของบ่อเท่านั้น และต้องให้เหลือเป็นเชื้อพันธุ์อีก 1 ใน 4 ส่วนของบ่อ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียงสองวัน ก่อนนำสาหร่ายไปตั้งบนเครื่องกรองน้ำออก นำไปตากแดดภายในโรงเรือนกระจกรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อแห้งได้ที่เก็บรักษาเข้าถุงสู่ขั้นตอนการผลิตครั้งสุดท้าย คือ การบดให้ละเอียดครั้งละ 100 กิโลกรัม โดยเครื่องบดบรรจุใส่ถุงพลาสติกปิดให้มิดชิด ในอุณหภูมิที่พอเหมาะคือแห้งและเย็น เตรียมการขนส่งสู่ตลาดกรุงเทพฯ ลำปาง เชียงใหม่ ระยะเวลาเพียง 10 วัน ขนาด 1 บ่อ สามารถสร้างรายได้มากกว่า 2,000 บาท/บ่อ

แม้วันนี้ แนวคิดของ "คงพร และ มะลิวัลย์ พรรณ์แผ้ว" มีการจัดรูปแบบของสถานที่ด้านการจัดรูปการส่งเสริมการเกษตร ที่ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นหันมาเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองเป็นอาชีพ จะมีรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานในชุมชนได้ระดับหนึ่ง พร้อมมีการทดลองการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามสามารถเจริญเติบโตดีมาก พร้อมเป็นข้อศึกษาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หากมีผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร. (043) 508-016, (01) 400-4459 หรือที่ E-mail. phanphaew.m@chaiyo.com

นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในตอนท้ายว่า การสร้างเงินสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการลงทุนของภาคประชาชนหากมีความผิดพลาดหรือเร่งการลงทุนโอกาสผิดพลาดสูง เพราะหากเกิดลัทธิการเอาอย่างเป็นข้อเสียหายได้ ฉะนั้น จังหวัดร้อยเอ็ดจึงส่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคอยกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

บัวบก...ปลูกง่ายขายดี

centella

 

บัวบก เป็นชื่อที่เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ และประกอบกับประโยคที่มีการพูดอยู่เสมอว่าดื่มน้ำใบบัวบกจะช่วยแก้อาการอกหักได้ แก้ช้ำในได้ ทำให้ชุ่มคอ ชื่นใจ ในทุกยุคทุกสมัยน้ำใบบัวบกจึงมีให้หาดื่มได้ไม่ยากนัก เช่น ในสมัยก่อนน้ำใบบัวบกจะมีวางขายในบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ หรือไม่ก็วางบนรถเข็นเร่ขายตามตลาดทั่วไปในราคาแก้วละไม่กี่สตางค์ แต่ปัจจุบันนี้มีพ่อค้าแม่ค้าหรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรนำใบบัวบกมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรส่งวางขายตามห้างสรรพสินค้า ทั้งเล็กทั้งใหญ่เพื่อให้บริการกับทุก ๆ ท่านได้มากขึ้น
นอกจากการแปรรูปเป็นน้ำใบบัวบกเครื่องดื่มสมุนไพรแล้ว ใบและเถาบัวบกยังได้นำไปเป็นพืชผักในครัวเรือน ตามร้านอาหารหรือสวนอาหาร มีการนำไปจัดเป็นผักสดรวมกับผักอื่น ๆ ให้เป็นผักเครื่องเคียงรับประทานกับแกงเหลืองอาหารรสแซบแบบปักษ์ใต้ รับประทานกับลาบ น้ำตก น้ำพริก ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน หรือเป็นเครื่องเคียงรับประทานกับแนมเนืองอาหารแบบชาวเวียดนาม ซึ่งไม่ว่าจะนำใบและเถาบัวบกมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร หรือนำมาเป็นผักสดรับประทานกับกับข้าวหรือแบบอื่นใดก็ตามต่างช่วยชูรสให้การรับประทานอาหารมื้อนั้นอร่อยเพิ่มขึ้นนอกจากนี้การรับประทานผักอย่างสม่ำเสมอยังได้ช่วยในระบบการย่อยอาหารและให้คุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ณ เวลานี้การปลูกบัวบกจึงเป็นพืชผักที่เลือกเป็นอาชีพเพื่อการผลิตให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีอีกพืชหนึ่ง
บัวบกผัก พื้นบ้านที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นอีกพืชหนึ่งที่ขณะนี้ยังมีพื้นที่การปลูกไม่มากนัก ในบางท้องถิ่นที่มีการปลูกบัวบกก็ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดให้มีการปลูกเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นในการเสริมสร้างรายได้ แต่ก็มีเกษตรกรบางรายได้นำไปปลูกเป็นอาชีพหลักก็มี โดยทั่วไปแล้วบัวบกเป็นพืชปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจปลูกบัวบกเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมเพื่อเสริมสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้มีความมั่นคง
เทคนิคและวิธีการปลูกบัวบก คุณไพศาล พวงแย้ม เกษตรกรผู้หนึ่งที่ปลูกบัวบก อยู่ที่ตำบล แพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นประกอบอาชีพการทำนา 30 ไร่เป็นหลักเพียงกิจกรรมเดียว มีครั้งหนึ่งจากหลายครั้งที่เดินทางไปติดต่อซื้อขายสินค้าเกษตรในเขตจังหวัดนครปฐม ทำให้ได้พบเพื่อนเกษตรกรคนหนึ่งที่นำบัวบกมาขายจึงได้คุยกันและทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการปลูกบัวบกขึ้นมา เมื่อกลับมาถึงบ้านในระยะแรกยังไม่ได้คิดไม่ได้สนใจที่จะปลูกหรือนำวิธีการปลูกบัวบกมาเป็นอาชีพแต่อย่างใด เมื่อเวลาผ่านไป 5 - 6 ปี ทุกครั้งที่เดินทางไปค้าขายสินค้าเกษตรที่จังหวัดนครปฐมได้สังเกตุเห็นว่าการค้าขายบัวบกของเพื่อนเกษตรกรในตลาดที่จังหวัดนครปฐม
เป็นไปได้ด้วยดี เมื่อกลับมาจึงได้ปรึกษากันในครอบครัวและได้ตัดสินใจด้วยกันว่าต้องนำการปลูกมาเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา เริ่มแรกได้ตัดสินใจปรับพื้นที่นา 2 งานทำการปลูกบัวบกและปลูกเรื่อยมากระทั่งเพิ่มมาเป็น 4 ไร่ในปัจจุบันนี้และนับถึงเวลานี้ก็ปลูกบัวบกมาปีกว่าแล้ว
บัวบก เป็นไม้เลื้อยสูงจากพื้นดิน 15 - 20 เซนติเมตร รากงอกออกตามข้อของลำต้น ส่วนทางด้านบนของข้อจะเป็นส่วนที่แตกยอดหรือใบอ่อนด้วย เป็นใบเดี่ยวออกเป็นกระจุก 2 - 6 ใบ ดอกสีม่วงแดงเข้ม ส่วนที่นำมารับประทาน คือ ใบ และเถา มีรสชาติอร่อยเช่นเดียวกับพืชผักชนิดอื่น ๆ
การปลูกบัวบกครั้งแรกได้ปลูกด้วยเมล็ด โดยได้แบ่งซื้อเมล็ดพันธุ์บัวบกจากเพื่อนเกษตรกรที่จังหวัดนครปฐม โดยนำมาเพาะในกระบะ ก่อนเมื่อต้นกล้าแข็งแรงหรือมีอายุ 15 - 25 วัน จากนั้นจะย้ายกล้าลงปลูกในแปลง ทำการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ พร้อมกับเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของบัวบกไปด้วย หลังจากเก็บเกี่ยวบัวบกไปขายหมดแล้วต่อมาได้พัฒนาการปลูกบัวบกจากการปลูกด้วยเมล็ดไปเป็นการปลูกโดยใช้ไหลหรือลำต้นทำให้เก็บผลผลิตได้ไวกว่าการปลูกด้วยเมล็ด

การเลือกพื้นที่ปลูกบัวบก พื้นที่ที่ปลูกบัวบกต้องเป็นพื้นที่ดอนไม่มีน้ำขังหรือควบคุมน้ำได้ดี พื้นที่ปลูกที่นี่เป็นดินนาค่อนข้างเหนียวการเตรียมดินได้ทำการไถพรวนดินในพื้นที่นาให้ร่วนซุยเช่นเดียวกันกับการปลูกพืชผักทั่ว ๆ ไปแล้วตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 10 วันก่อนปลูกจะช่วยป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินได้ระดับหนึ่งหรือหมดไป จากนั้นยกร่องเป็นแปลงปลูกกว้าง 4 เมตร ส่วนทางด้านความยาวของแปลงปลูกได้ปล่อยไปตามขนาดความยาวของพื้นที่ ระหว่างแปลงปลูกจัดเป็นร่องน้ำหรือทางเดินกว้าง 50 เซนติเมตร และลึก 15 เซนติเมตร สำหรับระยะปลูกหรือปักชำที่เหมาะสมคือจัดให้หลุมปลูกห่างกันด้านละ 15 x 15 เซนติเมตร เมื่อทำการปลูกหรือปักชำแล้วรดน้ำพอชุ่ม หลังจากปลูกหรือปักชำ 7 วันไหลหรือลำต้นบัวบกจะเจริญเติบโตแตกยอดออกมาใหม่ 1 - 2 ยอด เมื่อบัวบกเจริญเติบโตเต็มที่ตามความเหมะสมไหลหรือลำต้นจะแผ่กระจายออกเต็มพื้นที่แปลงปลูก พร้อมที่จะให้ผลผลิต

การใส่ปุ๋ย ตลอดฤดูการปลูกบัวบกได้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่ปุ๋ยหลังจากปลูก 15 - 20 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือบางครั้งจะใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 อัตรา 3 - 4 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่สองจะห่างจากการใส่ครั้งแรก 15 - 20 วันโดยเปลี่ยนเป็นใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ ทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วจะต้องรดน้ำให้ชุ่ม สำหรับอัตราการใส่ปุ๋ยทุกครั้งจะดูการเจริญเติบโต ความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสมบูรณ์ของต้นบัวบกด้วย จึงจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

ศัตรูของบัวบก ที่พบได้แก่หนอนคืบที่มากัดกินใบ เป็นศัตรูบัวบกชนิดหนึ่ง ถ้าหนอนชนิดนี้ระบาดมากมันจะกัดกินใบจนเหลือแต่ก้าน หรืออาจทำความเสียหายได้ทั่วทั้งแปลง จากการที่เคยสังเกตุได้พบว่าตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนเมื่อกะดูโดยสายตามันจะมีขนาดเล็ก ปีกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายปีกหน้าและปีกหลังมีสีน้ำตาลอมสีเทา ลำตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนหัวเป็นสีน้ำตาล
ลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน นอกจากหนอนชนิดนี้แล้วยังไม่เคยพบศัตรูบัวบกชนิดอื่นอีกเลย

การป้องกันกำจัดหนอนที่มากัดกินใบ   ถ้าพบจำนวนไม่มากจะเก็บตัวมันออกไปทำลายทิ้งหรือหากพบว่ามีจำนวนมากต้องใช้สารเคมีกำจัด ต่อมาได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ให้นำเมล็ดลางสาดจำนวน 1.5 กิโลกรัมมาบด นำไปผสมกับน้ำ 1 ปี๊บหมักทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่เฉพาะน้ำไปฉีดพ่นให้ทั่วแปลง หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้สลับกันคือ นำต้นมะเขือเทศมาหั่นให้ละเอียดอัตราส่วน 2 กำมือไปใส่ในน้ำร้อนจำนวน 2 ลิตรหมักทิ้งไว้ประมาณ 5 ชั่วโมงแล้วกรองเอาแต่เฉพาะส่วนน้ำไปฉีดพ่นให้ทั่วแปลงจะป้องกันไม่ให้หนอนคืบมากัดกินใบบัวบกได้ ทั้ง 2 วิธีมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้รับประทานและประหยัดต้นทุนการผลิตด้วย

การให้น้ำ น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นในการให้น้ำบัวบกจะต้องพอเหมาะพอดี สำหรับที่นี่ได้จัดระบบการให้น้ำบัวบกเป็นแบบมินิสปริงเกลอใช้ต้นทุนในการจัดหาอุปกรณ์ครบชุด 30,000 - 40,000 บาท จากนั้นจัดวางท่อเอสล่อนที่ติดหัวสปริงเกลอลงบนกลางแปลงปลูกหลังจากที่ทำการปลูกบัวบกเสร็จแล้วให้มีระยะห่างกัน 4x6 เมตร การให้น้ำบัวบกทุกวันเช้า - เย็น นานครั้งละ 2 ชั่วโมงจะเพียงพอต่อการเติบโตของบัวบกได้ดีจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำ 350 บาทต่อเดือน

การเก็บเกี่ยวบัวบก
คุณไพศาล พวงแย้ม เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า เมื่อมีการดูแลรักษาดี หลังจากปลูกประมาณ 60 - 90 วันก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวใบและเถาได้ โดยวิธีการเก็บได้ใช้เสียมเหล็กขนาดเล็กขุดเซาะบริเวณใต้รากแล้วดึงเอาต้นเถาบัวบกออกมาล้างน้ำ ทำความสะอาดเก็บใบเหลืองเศษวัชพืชอื่น ๆ ออกจากนั้นใช้มีดบางตัดบริเวณโคนต้นให้ได้ความยาวประมาณ 1 คืบนับจากปลายใบลงมา นำใบบัวบกจัดเป็นกำ ๆ ละ 1 ขีด นำไปบรรจุถุงพลาสติกถุงละ 50 กำหรือ 5 กิโลกรัม จัดขึ้นรถยนต์นำไปขายส่งให้กับพ่อค้าส่งที่ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี อีกตลาดค้าส่งอีกแห่งหนึ่งคือที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนครปฐม ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงที่บัวบกออกสู่ตลาดน้อยจะขายได้ราคาดีคือ 150 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม บัวบกจะออกสู่ตลาดจำนวนมากจะขายในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าวางแผนการปลูกให้ดีจะสามารถเก็บบัวบกได้ตลอดปี ทุกวันนี้เมื่อนำบัวบกออกขายได้เงินเท่าใดแล้วจะหักต้นทุนการผลิตออก ซึ่งแต่ละครั้งจะมีรายได้ 500 บาทขึ้นไป

คุณดารณี ทองใบ นักวิชาการเกษตร กลุ่มพืชผัก กรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า บัวบกเป็นพืชล้มลุกในเขตร้อน เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ในบางพื้นที่ พบมีขึ้นได้ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มและชื้นแฉะ การเจริญเติบโตของบัวบกจะเลื้อยไปตามพื้นดิน ใบและรากแตกออกตามข้อของลำต้น ใบมีรูปร่างกลม ขอบใบหยัก ผิวใบด้านบนเรียบส่วนด้านล่างมีขนสั้น ดอกออกเป็นช่อตามบริเวณข้อรูปร่างคล้ายร่มแต่ละช่อมี 3 - 4 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบสีม่วงอมแดง หลังจากปลูก 60 - 90 วันจะเริ่มเก็บเกี่ยวใบและเถาไปรับประทานหรือขายได้
ใบและเถาบัวบกเป็นพืชผักที่คนไทยนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย มีประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ใบและเถาบัวบกมีกลิ่นหอม รสชาติมันอมขมเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ และอื่นๆ บัวบกยังเป็นพืชอีกทางเลือกหนึ่งที่มีการนำไปปรุงเป็นเครื่องสำอางและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ได้มากขึ้น

คุณอรสา ดิสถาพร หัวหน้ากลุ่มพืชผัก กรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า การส่งเสริมปลูกบัวบกนั้นคงต้องยอมรับกันว่าตลาดยังไม่เปิดกว้างมากนักเป็นพืชผักพื้นบ้านที่สำคัญทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้ดีพืชหนึ่ง แนวทางที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดแต่ละจังหวัดส่งเสริมให้เกษตรกรมีการอนุรักษ์บัวบกหรือพืชผักอื่นๆ ให้พืชผักพื้นบ้านที่สำคัญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น หรือชุมชนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทั้งในรูปแบบที่เป็นพืชเสริมรายได้กับพืชอื่นเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านการผลิตและที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ปลูกมีอาหารรับประทานในครัวเรือน นำไปขายเป็นการเสริมสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวเกษตรกร จากเรื่องราวของการปลูกบัวบกที่นำเสนอมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ยังมีอีกมาก สำหรับในแง่มุมการได้ประโยชน์
จากบัวบกนั้นได้นำข้อมูลจากผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย เอกสารของสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข 2540 : 147 มาเล่าสู่กันดังนี้ รสและประโยชน์ต่อสุขภาพของบัวบกจะมี รสมันอมขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ช่วยระบายความร้อน บำรุงกำลัง ใบบัวบก 100 กรัมให้พลังงานต่อร่างกาย 44 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใย 2.6 กรัม แคลเซียม 146 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 3.9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 10962 ไอยู (IU) วิตามินบีหนึ่ง 0.24 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอาซีน 0.8 มิลลิกรัม และวิตามินซี 4 มิลลิกรัม ผู้เขียนขอบคุณคุณชัด ขำเอี่ยม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ที่ได้นำชมการปลูกบัวบก พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นของจังหวัดชัยนาท เป็นการนำสิ่งที่ เป็นภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายออกมาเผยแพร่สู่ท่านผู้อ่าน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ในการนำไปประกอบเป็นอาชีพได้บ้าง ปัจจุบันบัวบกนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้านเช่น นำไปเป็นผักสดรับประทานกับน้ำพริก แกงเหลือง ลาบ น้ำตก ผัดไทย และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรส่งวางขายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งได้ก่อให้เกิดรายได้ต่อเกษตรกรทั้งสิ้น ถ้าหากเกษตรกรท่านใดสนใจหรือยังมีที่ดินว่างๆ มีแรงงานมีเงินทุน มีความสามารถในการจัดการที่ดี และคิดที่จะให้มีงานทำโดยการปลูกบัวบกเพื่อให้เป็นพืชอีกทางเลือกใหม่ในการเสริมสร้างรายได้ที่นำไปสู่การพัฒนาความมั่นคงให้กับครอบครัวก็แวะไปชมวิธีการปลูกได้ที่สวนบัวบกของคุณไพศาล พวงแย้ม 17/1 หมู่ 1 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โทร. 056 - 437336, 0 - 6203 - 9874 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลแพรกศรีราชา สำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 056 -481442 ก็ได้ครับ

งาขาวเมล็ดโต “อุบลราชธานี 2”

sesame02

 

งาเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพที่คนนิยมบริโภคพืชหนึ่ง เป็นพืชที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ (มีแร่ธาตุประมาณ 4.1 – 6.5%) แร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน สังกะสี และฟอสฟอรัส นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินโดยเฉพาะวิตามินบีมีอยู่เกือบทุกชนิด ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 2 บี 5 บี 6 บี 9 ไบโอดีน โคลีนไอโนซิตอล กรดพาราอะมิโนแบนโซอิค จึงทำให้งามีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท สมอง แก้อาการเหน็บชา อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และเบื่ออาหาร นอกจากนี้งายังมีสารเลคซิติน (Lecithin) ประมาณ 0.65% ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดระดับไขมันในเลือด น้ำมันงาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึง 80 – 85% ได้แก่ กรดโอเลอิค 36 –40% ลิโนเลอิค 42 –50% นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่สำคัญคือ sesamol sesamin และ sesamolin ซึ่งเป็นสารกันหืนธรรมชาติ และมีคุณสมบัติในการช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น ลดระดับไขมันในเลือด
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกงาปีละประมาณ 385,000 – 392,000 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 32,000 – 39,000 ตันผลผลิตเฉลี่ย 89.7 กก./ไร่ งาที่ปลูกโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามสีของเปลือกหุ้มเมล็ด คือ งาขาว งาดำ และงาแดง จากข้อมูลฝ่ายสถิติ กองแผนงาน กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ในปี 2541 ประเทศไทยมีการผลิตงาแดงมากที่สุด 16,595 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของปริมาณงานทั้งหมดที่ผลิตได้ งาดำมีการผลิตรองลงมาคือ 7,755 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ส่วนงาขาวมีการผลิตน้อยที่สุดเพียง 1,988 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของปริมาณงานทั้งหมดที่ผลิตได้ งาขาวเมล็ดโตเป็นลักษณะเมล็ดงาที่ตลาดต้องการมากทั้งภายในและต่างประเทศจากสถิติการส่งออกของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2541 ปรากฏว่าประเทศไทยส่งออกงาขาว (ทั้งเมล็ดงาขาวและงาขัดเปลือก) มากที่สุด 2,348 ตัน งาดำส่งออก 1,018 ตัน ส่วนงาแดง ไม่มีรายงานการส่งออก เนื่องจากตลาดต่างประเทศบริโภคเฉพาะงาขาวและงาดำเท่านั้น โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมปลูกงาแดง หรืองาดำ – แดงเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นได้จากปริมาณการผลิตสูงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในขณะที่การส่งออกจะส่งในรูปของงาขาว ดังนั้น จึงต้องผ่านกระบวนการเอาเปลือกหุ้มเมล็ดออก ทำให้เมล็ดเป็นสีขาว เรียกว่า งาขัด ก่อนส่งออก ดังน้นถ้าพันธุ์ที่ใช้ปลูกเป็นงาขาวจะทำให้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในกระบวนการขัดงาลงจึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์งาเพื่อให้ได้งาขาวเมล็ดโต ซึ่งเป็นลักษณะเมล็ดที่ตลาดต่างประเทศต้องการ มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะธาตุแคลเซียมและสารต้านอนุมูลอิสระสูง

ขั้นตอนการปรับปรุง
ในปี 2529 ได้ทำการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างงาขาวพันธุ์มหาสารคาม 60 (พันธุ์แม่) ซึ่งเป็นพันธุ์งาขาวที่ให้ผลผลิตสูง (ผลผลิตเฉลี่ย 116 กก./ไร่) มีขนาดเมล็ดค่อนข้างโต (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 2.90 กรัม) กับพันธุ์ Terrass 77 (พันธุ์พ่อ) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีขนาดเมล็ดโต (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 3.50 กรัม) ปลูกลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ในปลายฤดูฝน 2529 ปลูกและคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 2 – 7 ระหว่างปี 2530 – 2532 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีแล้วนำเข้าประเมินผลผลิตตามศูนย์ และสถานีทดลองพืชไร่ต่าง ๆ ดังนี้

การเปรียบเทียบเบื้องต้น
ในต้นฤดูฝนปี 2533 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี วางแผนการทดลองแบบ RCB 2 ซ้ำ จำนวน 59 สายพันธุ์/พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 2 แถว ๆ ยาว 7 เมตรใช้ระยะปลูก 50x10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วัน หลังถอนแยกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่า งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) มีขนาดเมล็ดโต โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.27 กรัม โตกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ทีมให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 2.97 กรัม หรือมากกว่าร้อยละ 10 และให้ผลผลิต 129 กก./ไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้ผลผลิต 135 ก./ไร่ คัดเลือกสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ได้ 11 สายพันธุ์

การเปรียบเทียบมาตรฐาน
ในต้นฤดูฝนปี 2534 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสถานีทดลองพืชไร่ร้อยเอ็ด วางแผนการทดลองแบบ RCB 3 ซ้ำ จำนวน 15 สายพันธุ์/พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 4 แถว ๆ ยาว 7 เมตร ใช้ระยะปลูก 50x10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วันหลังถอนแยกใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.20 กรัม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 113 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 2.99 กก. และให้ผลผลิต 95 กก./ไร่ หรือสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 7 และ 9 ตามลำดับ คัดเลือกสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ได้ 8 สายพันธุ์

การเปรียบเทียบในท้องถิ่น
ในต้นฤดูฝนปี 2536 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสถานีทดลองพืชไร่เลย ปลายฤดูฝนปี 2536 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี สถานีทดลองพืชไร่เลย และสถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลก ต้นฤดูฝนปี 2537 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่มุกดาหาร และสถานีทดลองพืชไร่เลย ปลายฤดูฝนปี 2537 ที่สถานีทดลองพืชไร่เพชรบูรณ์ สถานีทดลองพืชไร่มหาสารคาม และศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราธานี วางแผนการทดลองแบบ RCB4 ซ้ำ จำนวน 10 สายพันธุ์พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 6 แถว ๆ ยาว 7 เมตร ใช้ระยะปลูก 50 x 10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วัน หลังถอนแยกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.08 กรัม สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 5 และให้ผลผลิต 15 กก./ไร่ ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้ผลผลิต 123 กก./ไร่ คัดเลือกสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ 4 สายพันธุ์

การเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร
ในต้นฤดูฝนปี 2538 ดำเนินการที่ไร่เกษตรกร จังหวัดเลย ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สงขลา ในปลายฤดูฝนปี 2538 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดเลย ศรีสะเกษ มุกดาหาร มหาสารคามและเพชรบูรณ์ วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ จำนวน 6 สายพันธุ์/พันธุ์ ปลูกงาพันธุ์ละ 10 แถว ๆ ยาว 8 เมตร ใช้ระยะปลูก 50 x 10 ซม. ถอนแยกให้ได้ระยะตามที่กำหนด เมื่องาอายุ 20 วันหลังถอนแยกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.22 กรัม สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 2.99 กรัม หรือสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 8 และให้ผลผลิตเฉลี่ยเฉลี่ย 99 กก./ไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์มหาสารคาม 60 (102 กก./ไร่) คัดเลือกไว้ได้ 2 สายพันธุ์

การทดสอบในไร่เกษตรกร
ดำเนินการในต้นฤดูฝนปี 2540 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ลพบุรี เลย ปลายฤดูฝนปี 2540 และ 2541 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ลพบุรี เลย และเพชรบูรณ์ ปลูกแบบไม่มีซ้ำ ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์/พันธุ์ มีงาขาวพันธุ์มหาสารคาม 60 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ปลูกงาตามวิธีของเกษตรกร โดยใช้อัตราเมล็ด 1 กก./ไร่ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กก./ไร่ หว่านปุ๋ยพร้อมปลูก ผลการทดลองพบว่า พันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.24 กรัม สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ที่ให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.04 กรัม หรือสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 7 และให้ผลผลิต 153 กก./ไร่ เท่ากับพันธุ์มหาสารคาม 60

ประเมินการยอมรับของเกษตรกร
ได้จัดทำแปลงสาธิตงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ที่สถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท สถานีทดลองพืชไร่เพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในปี 2544 พร้อมจัดอบรมการปลูกงาที่ถูกต้องและเหมาะสมและการแปรรูปงารวม 4 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วมฝึกอบรมและประเมินการยอมรับพันธุ์ของเกษตรกร จำนวน 186 ราย โดยใช้แบบสอบถาม พบว่าเกษตรกรทั้งหมดให้การยอมรับในงาสายพันธุ์นี้ เนื่องจากมีจำนวนฝักดก มีขนาดเมล็ดโตและสีขาวสะอาด ได้กระจายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรเพื่อขยายผลให้มากขึ้น

ลักษณะเด่นของงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2

1. มีขนาดเมล็ดโต (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 3.18 กรัม) โตกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 60
2. ให้ผลผลิตสูง 122 กก./ไร่ เท่ากับพันธุ์มหาสารคาม 60
3. มีปริมาณสาร antioxidants 10,771 มก./กก. สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 16
4. มีปริมาณธาตุแคลเซียม 0.69% สูงกว่าพันธุ์มหาสารคาม 60 ร้อยละ 6

ข้อควรระวัง
งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) ไม่ต้านทานต่อโรคเน่าดำที่เกิดจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina และโรคไหม้ดำที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum เช่นเดียวกับพันธุ์มหาสารคาม 60 ในแหล่งที่มีโรคระบาดรุนแรง ควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรไถตากดินทิ้งไว้ก่อนปลูกงาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อ
2. คลุกเมล็ดงาก่อนปลูกด้วยสารแคปแทนหรือเบนโนบิล อัตรา 2.5-5 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือใช้สารดังกล่าวอัตรา 15 – 20 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดโคนต้นงาเมื่ออายุ 15 30 และ 45 วัน เพื่อควบคุมโรคเน่าดำ
3. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นพืชอาศัยของเชื้อทั้งสอง ชนิดหมุนเวียนกับงา เช่น ถ่วพร้า อ้อยคั้นน้ำและปอแก้ว
4. เมื่อพบต้นเป็นโรคให้รีบถอนและเผาทำลาย

พื้นที่แนะนำ
งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี2 (LH 220) สามารถใช้เป็นพันธุ์ปลูกได้ทั่วไปของภาพการผลิตงาของประเทศไทย โดยเฉพาะในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงในปลายฤดูฝน จะได้ให้ผลผลิตสูงและเมล็ดมีคุณภาพดี

ความพร้อมของพันธุ์
ในปี 2545 ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีได้ผลิตเมล็ดพันธืหลักงาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 (LH 220) จำนวน 5 ไร่ จะได้เมล็ดพันธุ์หลักจำนวน 0.5 ตัน ซึ้งสามารถปลูกขยายได้ในพื้นที่ 500 ไร่

การตั้งชื่อ
เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และได้เคยรับรองพันธุ์งามาแล้วคืองาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 จึงขอตั้งชื่องาสายพันธุ์ใหม่ว่า “งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2” (Ubonratcha- thani 2) และได้ผ่านมติคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธืกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545

ลักษณะทางการเกษตร

 

ลักษณะ

อุบลราชธานี 2

มหาสารคาม 60

1. อายุออกดอก (วัน)

2. อายุเก็บเกี่ยว (วัน)

3. ความสูง (ซม.)

4. จำนวนกิ่งต่อต้น

5. จำนวนฝักต่อต้น

6. น้ำหนัก 1,000 เมล็ด (กรัม)

7. ผลผลิตเฉลี่ย (กก./ไร่)

30 – 32

80 – 85

148

0 – 1

38.3

3.18

122

28 – 32

75 – 85

147

0 – 1

39.8

2.99

122

 

ที่มา : จากแปลงเปรียบเทียบเบื้องต้น มาตรฐาน ในท้องถิ่น ในไร่เกษตรกร และแปลงทดสอบในไร่
เกษตรกร รวม 34 แปลง

คุณสมบัติทางเคมี

 

ลักษณะ

อุบลราชธานี 2

มหาสารคาม 60

1. น้ำมัน (%)

2. Antioxidants (มก./กก.) 1/

3. ธาตุแคลเซียม (%) 1/

4. ธาตุโพแทสเซียม (%) 1/

5. ธาตุฟอสฟอรัส (%) 1/

49.3

10,771

0.69

0.4

042

48.7

9,255

0.65

0.48

0.66

 

1/ วิเคราะห์โดยกองเกษตรเคมี
ที่มา : จากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่เกษตรกรปี 2538

บัว...เส้นทางสู่พืชเศรษฐกิจ

lotus

 

"บัว" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของพุทธศาสนา สำหรับคนไทยแล้วจะถือว่า "บัว" เป็นดอกไม้ชั้นสูงใช้บูชาพระ ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องได้กล่าวถึง "บัว" ในหลายลักษณะ ทั้งที่เปรียบเทียบกับสรีระของผู้หญิง ใช้อุปมาอุปไมยกับสติปัญญา หรือพฤติกรรมของคน และเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นผู้มีบุญ เช่น

เปรียบกับสรีระของผู้หญิง
"บัวตูมติดขั้วบังใบ บังใบท้าวไท
ว่าเต้าสุดาดวงมาลย์"

อุปมาอุปไมยกับพฤติกรรมของคน
"บงกชเกิดต่ำต้อย โคลนตม
มั่นมุ่งเบื้องอุดม ฝ่าน้ำ
ขุ่นใสไป่ยอมจม อยู่ใต้
บริสุทธิ์ผุดผ่องล้ำ เหล่าไม้ ดอกงาม"

เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญ
"บังเกิดเป็นปทุมเกสร
อรชรรับแสงพระสุริฉาน
ขึ้นในอุทรแล้วเบิกบาน
มีพระกุมารโฉมยง
อยู่ในห้องดวงโกเมศ
ดั่งพรหมเรืองเดชครรไลหงส์
จึงพระกฤษณฤทธิ์รงค์
อุ้มองค์กุมรรแล้วเหาะมา"
(รามเกียรติ์ ตอน กำเนิดท้าวอโนมาตัน)

ปรมาจารย์ทาง "บัว"

ตั้งใจมานานแล้วว่า อยากเขียนเรื่อง "บัว" เพราะได้เห็นบัวในที่ต่าง ๆ สีสันแปลกๆ ลักษณะดอกก็ไม่เหมือนกันเข้าใจว่าชื่อก็คงต่างกัน แต่เราไม่รู้จัก เรียกแต่ "บัว" สงสัยอีกว่าทำไมดอกบัวเหมือนกัน แต่บางชนิดบานตอนกลางวัน บางชนิดบานตอนกลางคืน สาย ๆ หน่อยก็หุบ แล้ว สงสัยอีกว่า บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง บัวสาย ต่างกันอย่างไร และบัวที่เราเคยเห็นและชอบถ่ายภาพเก็บไว้นั้นเป็นบัวชนิดใด เม็ดบัวที่เราชอบรับประทานนอกจากบัวหลวงแล้วเม็ดบัวชนิดอื่นมีหรือไม่ และรับประทานได้หรือไม่
เมื่อหลายปีมาแล้ว เคยสัมภาษณ์เกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น เรื่องการทำนาบัว เป็นสารคดีโทรทัศน์รู้สึกสนใจ แต่นาบัวนั้นเน้นการเก็บดอกขาย ยังคิดอยู่ว่าทำไมเขาไม่ขายส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ใบบัว ฝักบัว และเม็ดบัว ซึ่งน่าจะมีรายได้ดีกว่าการขายดอกอย่างเดียว ล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฟังวิทยุผู้จัดการรายการนำข่าวเรื่องของสมุนไพรมาเสนอตอนหนึ่งก็บอกว่า มีผู้เสนอให้นำบัวมาผลิตยาเหมือนยาไวอะกร้า ก็เลยสนใจบัวขึ้นมาอีก ไม่ได้สนใจยาไวอะกร้า แต่สนใจว่าในแง่ของสมุนไพรแล้ว บัวทำอะไรได้บ้าง
ในหนังสือกสิกรฉบับประจำเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2546 ได้เคยนำเรื่องของสมุนไพรจีนมาเสนอ มีการกล่าวถึง "บัว" ด้วยว่า บัวหรือที่ชาวจีนเรียกว่า "ฮ้อ" มีสรรพคุณใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในตำรับยาจีนโบราณเป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของบัวเกือบทุกส่วน ได้แก่ ดอกบัว ใบบัว เมล็ดบัว รากบัว และไหลบัว ถ้าท่านอยากทราบว่าแต่ละส่วนมีสรรพคุณอย่าไรบ้าง โปรดหากสิกร เล่มนั้นมาเปิดอ่านดูอีกครั้ง ย้อนกลับไปเรื่องข่าววิทยุในข่าวเอ่ยถึง ดร. เสริมลาภ วสุวัต ว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว จริง ๆ แล้วทราบมานานแล้วว่า ท่านเป็นปรมาจารย์ในเรื่องของบัว ประกอบกับได้ไปค้นหนังสือกสิกรฉบับเก่าๆ พบว่าฉบับประจำเดือนมีนาคม - เมษายน 2535 คุณขวัญตา กังวาลวชิระธาดาและคุณปริญญา ชินโนรส ได้ไปสัมภาษณ์ ดร. เสริมลาภ นำมาเขียนเรื่อง "สวนบัวนานาพันธุ์" จึงคิดว่า จะเป็นไรไปถ้า "กสิกร" จะไปสัมภาษณ์อาจารย์อีกสักครั้ง หลังจากวันเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี
บ้าน "ปางอุบล" เลขที่ 150/5 ซอยติวานนท์ 46 (ซอยธรรมนูญ) ถ. ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี คือ บ้านพักของ ดร.เสริมลาถ วสุวัตในเนื้อที่กะด้วยสายตาว่าน่าจะกว่า 5 ไร่ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน หน้าบ้านเป็นสระบัวขนาดใหญ่ อ่างบัวขนาดต่างๆ วางเรียงรายสมกับชื่อว่า "ปางอุบล" แต่อยากจะเรียกว่า "อุทยานบัว" มากกว่า มีบัวสีต่าง ๆ บานรับแสงแดดยามสายที่เริ่มร้อนแรงขึ้นตามลำดับ ผึ้งตอมเกสรบัวกันสนุกสนาน คนสวนกำลังทำงานลอกสระ ตัดหญ้า และตกแต่งกอบัว อาจารย์ ดร.เสริมลาภเองสวนกางเกงขาสั้น เสื้อผ้าป่านคอกลมผ้าขาวม้าคาดเอว ใส่หมวกปีกกว้าง กำลังนั่งทำงานอยู่กับอ่างบัวของท่าน เมื่อผู้เขียนเข้าไปแนะนำตัว ท่านจึงนึกได้ว่านัดกันไว้ ท่านละจากงานและกระตือรือล้นรีบนำผู้เขียนไปถ่ายภาพบัวชนิดที่บานกลางคืน ก่อนที่บัวจะหุบในเวลาประมาณ 10 โมงเช้า เสร็จแล้วจึงมานั่งคุยกันในบรรยายกาศสงบร่มรื่นใต้ต้นไม้ใหญ่
ผู้เขียนแนะนำกับเพื่อนที่ไปด้วยกันว่า ดร. เสริมลาภ เป็นผู้เชี่ยวชาญยางพารา ของกรมวิชาการเกษตร ท่านรีบบอกว่า "ไม่ได้เชี่ยวชาญยางอย่างเดียว ทำมาสารพัดอย่าง" พร้อมกับท้าวความหลังให้ฟัง

ชนิดของบัว
ดร. เสริมลาภ จำแนกชนิดของบัวให้ฟังว่า เขาจัด ประเภทของบัวประดับไว้ 6 ชนิด ได้แก่

บัวหลวง เป็นบัวชนิดเดียวที่มีก้านแข็ว มีหนาม ก้านชูพ้นน้ำ มี 2 กลุ่มสีคือ กลุ่มเฉดสีแดง กับเฉดสีขาว
บัวฝรั่ง เรียกว่า Hardy Waterlily ถิ่นกำเนิดอยู่ในยุโรปและอเมริกา เขตอบอุ่นและเขตหนาว ไม่เกิดในเขตร้อน ใบเล็ก ต้นเล็ก ใบลอยบนน้ำ ดอกลอยบนผิวน้ำ มี 5 สี ขาว ชมพู แดง เหลือง และสีอมแสด
บัวผัน เป็นบัวที่มีดอกชูบานกลางวัน เรียกว่า Day - Blooming Tropical Waterlily มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนมีลักษณะที่แตกต่างจากบัวฝรั่ง คือ ดอกชูพ้นน้ำแต่ใบลอยเหนือน้ำ ดอกมี 9 สี คือ ขาว ชมพู แดง เหลือง แสด ฟ้าคราม ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน สีเหลือบ (เหลือบระหว่างฟ้ากับเหลือง) บัวผันมีข้อเสียคือ กลีบดอกไม่ซ้อน ข้อดีคือมีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับนำมาทำเครื่องประทินผิวและน้ำหอม ซึ่งภรรยาอาจารย์พยายามจะทำแต่ท่านต้องจากไปเสียก่อนจะทำเสร็จ อาจารย์ ดร. เสริมลาภ บอกว่าพยายมปรับปรุงพันธุ์บัวผันให้มีกลีบซ้อนมาก ๆ โดยธรรมชาติแล้ว บัวผันและบัวสาย จะมีกลีบดอกไม่เกิน 20 กลีบ แต่อาจารย์ได้พยายามพัฒนาพันธุ์เพิ่มกลีบมาได้ 30 กลีบแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการคัดเลือกพันธุ์ (Natural Selection)
บัวสาย เป็นบัวไทยแท้ เรียก Night - Blooming Tropical Waterlily เป็นบัวที่มีดอกชู เกิดในเขตร้อน บานกลางคืน คือบานตอนหัวค่ำ จะไปหุบในช่วงเวลา 9 - 10 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น มี 3 สี คือ ขาว ชมพู แดง ขยายพันธุ์ง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ข้อเสียคือ กลีบดอกไม่ซ้อนแต่มีดอกโต มีกลิ่นหอมเล็กน้อย
จงกลนี อันที่จริงจัดอยู่ในกลุ่มบัวผัน สันนิษฐานว่าเกิดจากการ Mutation นานมาแล้ว อยู่ในเมืองไทยเป็นร้อย ๆ ปี แต่ไม่มีใครดึงมาเผยแพร่ อาจารย์เสริมลาภไปพบเข้า จึงนำศึกษา หาวิธีการขยายพันธุ์ จนกระทั่งทุกวันนี้ บัวจงกลนีไปแพร่หลายอยู่ในต่างประเทศแล้ว อาจารย์บอกว่า "เป็นบัวไทยแท้แต่โบราณ" ลักษณะเหมือนบัวฝรั่ง คือ ใบและดอกลอยบนน้ำ ใบมีลักษณะเหมือนบัวผัน ลักษณะพิเศษคือดอกบานและไม่หุบ ผิดกับบัวผัน บัวสาย และบัวหลวง ที่ดอกจะบานและหุบสลับกัน บัวผัน บัวสาย จะบาน 3 วันแล้วทุบ บัวหลวงบาน 4 วัน แล้วหุบแล้วบานใหม่ แต่จงกลนีจะบาน 7 วันแล้วโรยไปเลย
บัวกระด้ง เป็นบัวมาจากอเมริกาใต้ บางคนเรียกว่า บัววิคตอเรีย ใบลอยแตะผิวน้ำ ขอบใบยกตั้ง และมีหนาม ใบมีขนาดใหญ่มาก
นอกจากนี้ยังมี บัวนางกวัก ซึ่งเป็นบัวที่มีดอกแปลกกว่าบัวอื่น ๆ คือ ดอกมีกลีบเลี้ยงใหญ่เหมือนกลีบดอก มีสีเขียว ซึ่งอาจารย์ ดร.เสริมลาภ บอกว่า บัวนางกวักจัดอยู่ในกลุ่มบัวผันเพราะสามารถผสมข้ามพันธุ์กับบัวผัน "บัวนางกวัก หลุกมาจากไหนไม่ทราบ พวกแม่ค้าขายบัว บอกว่ามาจากอินเดีย ระยะแรกมีสีเดียวคือสีชมพู ตอนหลังมาผสมกับบัวไทยขณะนี้มีถึง 6 สีแล้ว ผมเอามาปลูกเป้นคนแรก และมีคนเอาไปผสมพันธุ์ก็ได้พัฒนาขึ้นมามีถึง 6 สี" อาจารย์เล่าถึงบัวนางกวัก   เมื่อถามถึงการจดสิทธิบัตรคุ้มครองพันธุ์บัวต่าง ๆ ที่อาจารย์ได้ผสมขึ้นมาใหม่ อาจารย์รีบบอกว่า "ผมไปจดที่เมืองนอก ก็ไม่ถึงขั้นเป็นสิทธิบัตรอะไร เป็นแต่เพียงไปจดทะเบียนไว้ว่า บัวพันธุ์นี้ ลักษณะนี้ ชื่อนี้ เป็นของไทย จดทะเบียนไว้ที่ International Waterlily ซึ่งเป็นของ Water Gardenin Society "ไปขึ้นทะเบียนไว้เป็นสิบ ๆ พันธุ์แล้ว แต่สิทธิบัตรของไทยเราไม่ทราบว่าเขาพร้อมจะให้เขาจดหรือยัง เห็นบอกว่าไปขึ้นทะเบียนไว้ได้ แต่จดสิทธิบัตรยังไม่ได้" คงจะเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า "บัว" ยังไม่อยู่ในรายชื่อพืชที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

เป็นนักผสมพันธุ์บัว
อาจารย์ ดร.เสริมลาภ เล่าให้ฟังถึง การปลูกเลี้ยงบัวตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงขณะนี้ว่า "ผมเป็นนักรวบรวมพันธุ์บัวตอนที่อยู่กองการยาง ผมไปเมืองนอกทุกปี ๆ ละ 3 - 4 ครั้ง เพราะมีเรื่องที่ต้องไปเกี่ยวข้องมากมาย ไปทีไรเมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็จะขอลากิจส่วนตัว 1 - 2 วัน ไปหาเก็บบัวพวกนี้มา รวบรวมมาตั้งแต่ ปี 2512 เดี๋ยวนี้ก็ยังทำอยู่แจ่ช่วงปลาย ๆ คือ ช่วงนี้ การสั่งบัวเข้ามามีน้อยลง เราสามารถพัฒนาพันธุ์ของเราเองขึ้นมาได้แล้ว เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้สั่งพันธุ์บัวมาจากต่างประเทศเลยนอกจากเพื่อนฝูงจากเมืองนอกมาหา อยากได้อะไรก็บอกให้เขาเอามาฝาก" การนำบัวเข้ามานั้น อาจารย์กล่าวว่า ถ้าเป็นบัวผัน หรือบัวสาย จะนำเข้ามาเป็นหัว ถ้าเป็นบัวฝรั่ง เขาขาย เป็นเหง้า ที่เรียกว่า Root หรือ Rhizome ก็นำเข้ามาเป็นเหง้ามียอดติดมานิดเดียว เข้ามาง่าย ๆ ด้วยการห่อพลาสติกเข้ามาเท่านั้นไม่ได้วิธีการอะไรมาก ระยะหลัง อาจารย์ ดร.เสริมลาภอ มีเวลาอยู่กรุงเทพฯ ค้านข้างนาน จึงเริ่มผสมพันธุ์บัวเองประมาณ ปี 2521 เมื่อถามถึงวิธีการผสมพันธุ์
บัว อาจารย์บอกว่า "แล้วแต่ว่าจะต้องการอย่างไร ถ้าจะผสมตัวเอง ก็ใช้วิธีคลุมถุง ไม่ให้ไปผสมกับคนอื่น ใช้ถุงพลาสติกคลุมดอกเฉย ๆ จะช่วยเขาหน่อยก็ได้ ตามปกติการผสมเกสรของบัวจะผสมโดยแมลง หรือลมพัดเกสร ถ้าคลุมถุงแล้วแมลงหรือลมเข้าไม่ได้ เราต้องช่วยทำให้เกสรมีการเคลื่อน
ไหวด้วยการนำเกสรไปแตะหรือสั่นไหวเบา ๆ ถ้าเป็นการผสมข้ามพันธุ์ต้องมีพิธีการมากพอสมควร ต้องกำหนดต้นดอกตัวเมียเป็นต้นแม่ ต้นดอกตัวผู้จะเอาต้นไหนต้องปลูกไว้สัก 2 - 3 ต้น ช่วงดอกแม่บานพร้อมจะผสมบังเอิญดอกตัวผู้ไม่บานสักต้นเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นต้องตั้งหลักว่า เราจะเอาอะไรผสมกับอะไร อะไรเป็นพ่อ อะไรเป็นแม่ ที่ต้องปลูกต้นพ่อไว้ 2 - 3 ต้น เผื่อไว้ต้นไหนมีดอกบาน ต้นไหนไม่มีดอกเพราะเวลาดอกแม่บานพร้อมจะผสมก็ดึงเกสรดอกตัวผู้มาผสม ถ้าไม่มีเผื่อไว้จะทำให้พลาดผสมไม่ได้"
อาจารย์ยืนยันว่า วิธีการผสมพันธุ์บัวก็เหมือนกับวิธีการผสมพันธุ์พืชทั่ว ๆ ไป ถ้าเป็นการผสมข้ามพันธุ์ ก่อนอื่นต้องตัดหรือปลิดเกสรตัวผู้ในต้นแม่ออกเพราะบัวเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน จึงต้องเอาเกสรตัวผู้ของต้นแม่ออกก่อนที่อับละอองเกสรจะแตกหรือประมาณ 2 - 3 วันก่อนดอกบานที่สำคัญคือต้องทราบว่าดอกนั้นๆ จะบานเมื่อไร ต้องมีความชำนาญวิธีการตัดเกสรตัวผู้ออก คือเปิดดอกออกใช้กรรไกรหรือคีมที่ใช้สำหรับผสมเกสร ขลิบเอาเกสรตัวผู้ทิ้งไป พอดอกบานก็เอาเกสรตัวผู้ของ ต้นที่ตั้งใจจะให้เป็นต้นพ่อมาใส่ในอับเรณู ของเกสรตัวเมียในต้นแม่
"วิธีของผมทำง่ายๆ ผมเอาเกสรตัวผู้มาทั้งช่อ ทั้งกระจุก มาสุมๆ บนเรณูของเกสรตัวเมีย จากนั้นเปิดดอกแล้วเคาะดอก หรือตัดให้เกสรตัวผู้ร่วงลงมา วิธีนี้ก็มีติดบ้างไม่ติดบ้าง ไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วจะติด เราต้องเสี่ยงนิด ๆ ขณะเดียวกันก็อิงตำราหน่อย ๆ แต่ตำราเมืองนอก กับตำรา บ้านเราไมาเหมือนกัน เมืองนอกบอกว่าเกสรตัวผู้จะสุกก่อนดอกบาน 2 วัน แต่บ้านเราไม่ใช่ บ้านเราปลูกในที่ร้อนบ้างที่เย็นบ้าง การผสมแต่ละครั้งใช่ว่าทีเดียวจะได้" อาจารย์เล่าถึงประสบการณ์ในการผสมพันธุ์บัว   หลังจากดอกบัวกลายเป็นฝักบัว หรือติดเมล็ดแล้วขั้นตอนต่อไปคือการเพาะ วิธีการเพาะอาจารย์ทำง่าย ๆ อีกเหมือนกันคือ เตรียมอ่างใส่ดินในอ่างให้หนา 3 - 4 นิ้ว เกลี่ยดินให้เรียบ ใส่น้ำให้สูงจากดิน 3 - 4 นิ้ว เอาดอกที่ติดเมล็ดมาขยี้ลงไปในอ่าง
อาจารย์ ดร.เสริมลาภ เปรียบเทียบวิธีการของอาจารย์กับธรรมชาติที่เป็นอยู่ว่าธรรมชาตินั้นพอบัวผสมติดดอกบาน จะขึ้นมาบานเหนือน้ำแล้วแตก พอแตกแล้วเจลลาดินหุ้มเมล็ดจะลอยไปตามน้ำจากนั้นจะจมลงเพื่อขยายพันธุ์ วิธีการของาจารย์ก็เหมือนธรรมชาติ เพียงแต่ช่วยให้แตกไวขึ้นโดยการขยี้และแทนที่จะให้ลอยไปตามน้ำก็จำกัดที่ให้อยู่ภายในอ่าง พอเมล็ดจมลงกันอ่าง ก็ช้อนเอากลีบดอกต่างๆ ทิ้งไป รอเวลาให้เมล็ดงอกออกมาเป็นต้น ซึ่งจะมีจำนวนเป็นร้อยต้นเลยทีเดียว ถามถึงวัตถุประสงค์ของการผสมพันธุ์ อาจารย์ตอบว่าต้องการเป็นประสบการณ์และเอาสิ่งที่ได้มามาเป็นตำราสอนหนังสือ
"ผมทำเฉพาะบัวผัน บัวที่ดอกบานกลางวัน บานกลางคืนก็ทำได่แต่ไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่พวกบัวผัน ดอกชูกลางวัน สีสันหลากหลาย มีตั้ง 9 สี บัวฝรั่งมีเพียง 5 สี โอกาสที่จะได้สีต่าง ๆ มีมากกว่า แต่ข้อเสียของบัวผันคือกลับไม่ซ้อน แต่บัวฝรั่งกลับซ้อน 30 - 40 กลีบ เพราะ ฉะนั้น
หลักการในการผสมพันธุ์บัวของชมรมคนรักบัว คือ พยายามผลิตบัวผันให้มีกลีบซ้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้วัตถุประสงค์ในการผสมพันธุ์บัวจะมี 2 ประการคือ ทำในทางวิชาการ เพราะผมสอนหนังสือด้วยจะเลือกเอาพันธุ์ที่แปลกๆ ไว้สอนหนังสือ เช่น ได้บัวสีเหลือง มีเหลืองทองหรือทองสุข ความจริงดอกไม่ค่อยสวยเท่าไร กลีบก็ไม่ซ้อน แต่ผมเอาคาแร็ตเตอร์ เช่น ลักษณะของใบ ถ้าใบเปิดมาก จะมีดอกอย่างเหลืองทอง ถ้าใบเปิดน้อยจะมีดอกอย่างทองสุข เป็นต้น
ประการที่ 2 คือความสวย แต่ถือเป็นเรื่องรองโชคดีได้บัวสายก็จะเก็บไว้ แต่โดยหลักใหญ่จะทำในเชิงวิชาการก่อน เอาลักษณะที่แตกต่างไว้สอนหนังสือ บัวแดง บัวเหลือง บัวม่วง ที่ได้มา ฐานของการทำ คือ เอาไว้สอนหนังสือ อย่างสีม่วงจะมีม่วงต่างๆ มีเฉดสีที่มีเครื่องวัด ผมทำไว้หลายสี วิบูลย์ลักษณ์กับม่วงธรรมนูญ สีเหมือนกัน แต่ม่วงธรรมนูญกลีบยาวกว่าเป็นต้น" อาจารย์อธิบาย

อยากให้บัวเป็นพืชเศรษฐกิจ
ความมุ่งมั่นของอาจารย์ ดร.เสริมลาภ วสุวัต ปรมาจารย์ในเรื่องบัว คือการผลักดันให้ "บัวหลวง" เป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมามีชาวบ้านพยายามจะปลูกบัวหลวงขายแต่ก็ไม่กว้างขวาง ในขณะที่ปัจจุบันมีเมล็โบัวจากประเทศจีนเข้ามาขายในบ้านเราเป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของอาจารย์คือเมล็ดบัวในบ้านเราสู้ของจีนไม่ได้ เพราะเราเก็บมาจากบัวที่เกิดในธรรมชาติ ซึ่งมีแมลงศัตรูพืชทำลายเป็นจำนวนมาก ถ้าเราสามารถนำมาพัฒนาพันธุ์ ปรังปรุงวิธีการเพาะปลูกให้ถูกต้อง ก็จะเป็นอาชีพให้ชาวบ้านได้มีรายได้ "ที่ว่างเปล่าที่สามารถจะปลูกบัวหลวงมีประมาณ 1.7 ล้านไร่ เป็นที่ชุ่มน้ำสามารถหาพันธุ์บัวมาปลูกได้ หน่วยงานของรัฐอาจจะส่งเสริมโดยการแบ่งพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้เป็นแปลงๆ ให้เกษตรกรปลูกบัว เมื่อได้ผลผลิตทั้ง ฝักบัว ทั้งเมล็ดบัวก็เก็บมาขาย ผมจะจัดสัมมนาในเรื่องของพัฒนาบัวหลวงให้เป็นพืชเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2546 ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัตถุประสงค์ของการสัมมนาคือ ไม่มีใครรู้เรื่องบัวจริง ๆ สักคน โดยเฉพาะบัวหลวงรู้จักแต่ในวรรณคดี แต่พันธุ์และการเพาะปลูกไม่รู้   ผมรู้แต่ว่ามีพันธุ์บัวหลวง 4 พันธุ์ที่ทราบก็เพราะอาศัยดูเพื่อนบ้าน อย่างประเทศจีน แต่ก่อนเขาก็เหมือนเรา แต่พอเขาพัฒนาพรวดเดียวมีพันธุ์ 300 พันธุ์ภายใน 10 ปี แต่บ้านเรายังไม่ได้ทำอะไร เวียดนาม ขณะนี้ผลิตเมล็ดบัวส่งมาขายบ้านเราแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึงไหนทั้ง ๆ ที่มีพันธุ์ออกมากมาย แรงงานในครอบครัวเกษตรกรก็มี ทำไมเราไม่ดึงศักยภาพเหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์ ออสเตรเลียก็ทำแล้ว ทั้งๆ ที่มีบัวอยู่น้อยมากในรัฐนิวเซาท์เวลล์ ประเทศในยุโรป ในฮาวาย เขาหยุดทำเรื่องบัว เพราะเขาปลูกบัวเอาเหง้า หรือรากบัว ค่าแรงเขาแพง ไม่มีแรงงานขุด ฮาวายต้องเลิกไป ญี่ปุ่นเลิกไป ออสเตรเลียกำลังจะพัฒนา แต่ก็รีๆ รอ ๆ เพราะค่าแรงแพงคัดเอาแรงงานชนพื้นเมืองมาทำ ไม่ทราบจะสำเร็จหรือไม่ ส่วนเมืองจีนค่าแรงถูกแต่ฤดูกาลไม่อำนวย เขาปลูกบัวได้เพียง 3 เดือน เก็บรากขายเจาทำได้เพราะแรงงานถูก รากบัวเขามีคุณภาพดีกว่าของเรา ต่าง ๆ เหล่านี้คือปัญหาที่แต่ละประเทศเผชิญอยู่ในการพัฒนาบัวให้เป็นพืชเศรษฐกิจ หันกลับมาดูบ้านเราทำให้มองเห็นช่องทางในการพัฒนาบัวของเราคือ ถ้าเราพัฒนาพันธุ์บัวของเราได้เอง คัดเลือกพันธุ์ ปลูกได้ทั้งน้ำตื้น น้ำกลางน้ำลึกซึ่งเรามีทั้งนั้น เรายังไม่ได้ทำเลย เราสามารถปลูกบัวเก็บเมล็ดได้ ตลอดปีสู้จีนได้ เราสามารถหาพันธุ์บัวที่ออกรากที่อาจจะปลูกทางเหนือ ค่าแรงสู่กับออสเตรเลีย ญี่ปุ่นได้ แต่สู้จีนไม่ได้ เรามีพื้นที่จะพัฒนาขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ได้แรงงานที่จะทำเมล็ดบัวก็มีไม่ยากเลยเพียงแต่ชาวบ้านเมื่อมีแรงงาน เหลือว่างจากไร่นาถึงเวลาสายหน่อยก็พายเรือออกไปเก็บฝักบัวตัดมาใส่กระด้งผึ่งไว้หรือแกะฝักเก็บเมล็ดผึ่งใส่กระด้งเลย ตากบนลานบ้านนั่นแหละ 1 - 2 วันก็ใช้ได้ หรือถ้าหากว่าจะเก็บเมล็ด ให้มูลค่าเพิ่มขึ้นมาก็คือเก็บฝักที่ยังนิ่ม แกะเปลือกออกเอาเมล็ดขาว ๆ แกะออก ผึ่งแดด แกะเอาดี หรือเอ็มไบรไอ ออกก็เก็บไว้ขายได้เป็นแรงงานในครอบครัวทั้งนั้น ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของสังคมไทยซึ่งออสเตรเลียไม่มี "นั่นคือมุมมองและความฝันของ ดร.เสริมลาภ วสุวัต ที่ปรารถนาจะเห็นบัวหลวงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย

บัวในแง่มุมของสมุนไพร
อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าวและมีผู้จีดรายการวิทยุนำไปอ่านออกอากาศทำนองว่า "บัว" มีสรรพคุณเทียบเท่ายา "ไวอะกร้า" ที่ขึ้นชื่อของต่างประเทศ ขึ้นชื่อในทางไหนคุณสุภาพบุรุษคงทราบดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ ดร.เสริมลาภ เล่าว่า "ข่าวมาจากผมนี้แหละ ผลไปบรรยาย ผมได้คุยกับองค์การเภสัชกรรมมาก่อนหน้านี้ว่า มีตำรายาไทยบอกว่า ดีบัว มีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือด ช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง ยาไวอะกร้าที่สามารถทำให้ผู้ชายมีฤทธิ์มีเดชได้ หลักก็คือไปช่วยขยายหลอดเลือด คือให้เลือดเดินสะดวกดีบัวก็ขยายหลอดเลือด ทำไมไม่ลองดึงเอาของดีมาพัฒนาเป็นยา เป็นยาอย่างไวอะกร้าได้ยิ่งดี จะได้มีสตางค์ ผมพูดเล่นแค่นั้นแหละ แต่เพื่อน (หมายถึงหนังสือพิมพ์) เอาไปลงว่าดีบัวไปทำยาไวอะกร้าได้ โอ้โหย... วันรุ่งขึ้นหมอเพ็ญนภารับเขียนค้านทันที ผมก็เลยทำบันทึกถึงหมอเพ็ญนภาว่า ผมพูดอย่างนี้ หมายความว่า ถ้าสามารถเอามาพัฒนาได้ก็อาจเป็นยาที่สู้กับไวอะกร้าได้" อาจารย์เล่าไปหัวเราะไป
อาจารย์ ดร.เสริมลาภ แสดงความเป็นห่วงว่าเรารู้จักว่าบัวมีสรรพคุณในทางสมุนไพร แต่ไม่มีใครที่จะพัฒนาในด้านนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น ดีบัว (ส่วนที่เป็น embryo เขียวๆ อยู่ในเมล็ดบัว) นำมาแก้โรคความดันโลหิตสูง เกสรบัวสามารถไปทำยาหอมได้ หรือเป็นส่วนผสมในการอัดพระเครื่อง กลีบบีว เกสรบัว ตากแห้งนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นน้ำชา นอกจากดีบัวแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของบัว โดยเฉพาะบัวหลวง ยังสามารถนำมาบริโภคในลักษณะของสมุนไพรได้อีกหลายส่วน ได้แก่
เมล็ดบัว   ช่วยบำรุงกำลัง แก้กษัย ท้องร่วง สมานแผล แก้ร้อนใน เจริญอาหาร แก้พุพอง
ฝักบัว   ช่วยขับลม สมานแผล แก้มดลูกพิการ แก้ท้องเสีย และแก้พิษเบื่อเมา
ก้านบัว   รักษาโรคลมออกหู และแก้ท้องเดิน
เหง้าบัว   แก้ท้องเสีย แก้พิษ ฝี ปวดบวม รักษาแผลไฟลวก ช่วยขับปัสสาวะ
ใบบัว   บำรุงร่างกาย แก้ไข ห้ามเลือด แก้ปวดฝี ปวดศีรษะ
ดอกบัว   แก้ท้องเสีย คล่นไส้ อาเจียน แก้ไข้ บำรุงกำลัง แก้จุกเสียด บางตำราว่า ช่วยให้คลอดบัตรง่าย
เกสรตัวผู้   รักษาอาการเกี่ยวกับเลือดลมบำรุงกำลัง แก้ไข้ ขับเสมหะ ช่วยในการขับถ่าย แก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ บำรุงตับ
ข้อมูลทางสมุนไพรของบัวเหล่านี้มีรายละเอียดให้ท่านค้นหาได้ที่ ศูนย์ข้อมูลทางสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล